“ฟ้ามีตาเปิดทางสว่าง”! ชาวสังขละบุรีทองผาภูมิ มีความหวังอีกครั้ง หลังเรียกร้องที่ทำกินมานานกว่า 29 ปี
1 min readผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่ เขื่อนเขาแหลม กรณีมีข้อพิพาทกับ ประชาชน ที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ ทองผาภูมิและสังขละบุรี มายาวนานกว่า 29 ปี
จากกรณีที่มีประชาชน ชาวอำเภอสังขละบุรีและทองผาภูมิเรียกร้องขอความเป็นธรรมมากกว่า 29 ปี เพื่อขอสิทธิที่อยู่ที่ทำกิน ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ ทองผาภูมิและสังขละบุรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2518 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ประกาศ พื้นที่อำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดตั้ง นิคมสหกรณ์ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 192 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งที่ดิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์ได้มีการจัดสรรปันส่วนที่ดิน ที่ทำกินให้กับประชาชนให้ครอบครัว ละ 50 ไร่ ซึ่งในการประกาศกฤษฎีกาดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ เนื้อที่กว่า 200,000 ไร่ หลังจากประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ทำให้พี่น้องประชาชนชาวอำเภอทองผาภูมิและสังขละบุรี ได้มีที่อยู่ที่ทำกิน และทำการเกษตร เรื่อยมาโดยตลอด อยู่อย่างปกติสุข
จนกระทั่ง วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2522 มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อสร้างเขื่อนเขาแหลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ทำการเวนคืนที่ดิน บริเวณลำน้ำแควน้อย บริเวณเขาแหลม ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ซึ่งในการเวนคืนที่ดินดังกล่าว ได้มีการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน เพื่อ เป็นที่ทำเกษตร แลกที่อยู่อาศัย ครอบครัวละ 15 ไร่ พร้อมกับให้เงินชดเชยบางส่วน ในการสร้างเขื่อนดังกล่าว มีระยะเวลาในการก่อสร้าง ประมาณ 7 ปี ซึ่งได้มีการกักเก็บน้ำได้ประมาณ ปี พ.ศ.2527-2529 เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ก็มีพื้นที่ บางส่วน เมื่อจัดเก็บน้ำเต็มระดับแล้วน้ำท่วมไม่ถึง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งประชาชนยอมรับ จะไม่รับค่าชดเชยกรณีหากมีน้ำท่วมพืชผลทางการเกษตร หากอยู่ต่ำกว่าความสูงระดับ 160 ลงมาจะไม่ได้ค่าชดเชย จากน้ำท่วมพืชผลทางการเกษตร แต่ถ้าอยู่สูงกว่าระดับ 160 ขึ้นไปจะได้รับค่าชดเชยจากรัฐ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับ ซึ่งอยู่ภายใต้ อาณาเขต ของนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิและสังขละบุรี
จนกระทั่งเมื่อ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2534 ทางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้ประกาศพื้นที่ บริเวณ ป่าเขาช้างเผือก ป่าเขาพระฤาษี ป๋าเขาบ่อแร่ ป่าเขาห้วยเขยง ในท้องที่ตำบล ไล่โว่ ตำบลหนองลู ตำบลบางเขน อำเภอสังขละบุรี และตำบลชะแล ตำบลปิเลาะ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ซึ่งแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ เกือบทั้งหมด ของกฤษฎีกานิคมสหกรณ์ สังขละบุรีและทองผาภูมิ หลังจากมีการประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมครอบคลุมพื้นที่ สหกรณ์นิคมสังขละบุรีทองผาภูมินั้น เจ้าหน้าที่อุทยานได้บังคับใช้กฎหมาย กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 2 อำเภอ ซึ่งมีประชากรกว่า 4,000 ครัวเรือนอาศัยอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจ เป็นเขตอุทยาน ทำการ บังคับจับกุม ผู้ที่บุกรุก และอยู่อาศัย ในพื้นที่ดังกล่าว นอกเหนือที่ทาง การไฟฟ้าได้มีการจัดสรรคที่ไว้ให้ ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับใช้กฎหมายอุทยาน จึงได้มีการเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานภาครัฐ เรื่อยมา กว่า 29 ปี ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าว ประชาชนขอเรียกร้อง ขอใช้สิทธิ์ ว่าตนเองอยู่ในเขต นิคมสหกรณ์ทองผาภูมิและสังขละบุรีตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2518 ซึ่งพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2518 ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอนการปรับปรุงแก้ไขแนวเขต และเพิกถอนแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาดังกล่าวแต่อย่างใด ยังคงยึดถือแผนที่แนบท้ายเดิม ตามที่นายจิรศักดิ์ เงินเส็ง ปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริม ได้ทำหนังสือตอบกลับผู้ร้องเรียน ให้ประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่ นิคมสหกรณ์ ทองผาภูมิและสังขละบุรี สามารถประกอบอาชีพและใช้พื้นที่ได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กับประชน แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายอื่น จนกว่าจะมีการสำรวจสิทธิ์ชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นการครอบครองของใคร โดยใช้ การปรับปรุงแนวเขต ที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตรา 1 ต่อ 4000 หรือ One Map
แต่การประกอบสัมมาอาชีพของพี่น้องประชาชนอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ก็ยังได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม เรือยมา จะทำการต่อเติมซ่อมแซมบ้านก็ไม่ได้ หรือจะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีการเพาะปลูกไว้ ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย โดยอ้างว่าบุกรุกอุทยาน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่อุทยานใช้กฎหมายใดในการบังคับจับกุม ซึ่งบางคนก็สามารถที่จะประกอบสัมมาอาชีพได้ แต่บางคนก็จะถูกจับกุม ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีการไล่ตัดต้นยางพารา ที่ประชาชนได้ปลูกไว้ จำนวนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนจะส่งผลกระทบกับประชาชน และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิ์ ที่จะเรียกร้อง อะไรเลย ทั้งที่พื้นดังกล่าวเป็นพื้นที่ข้อพิพาท ยังไม่สามารถสรุป ได้ว่า เป็นสิทธิของอุทยานหรือสิทธิของนิคมสหกรณ์เป็นผู้ครอบครอง ที่แท้จริง จนกว่าจะรอ การปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการหหรือ OneMap ถึงจะทราบว่าเป็นที่ดิน อยู่ในการควบคุมดูแลของใคร
ทำให้ชาวบ้านและตัวแทนของชาวบ้านได้เข้าเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยปี พ. ศ. 2534 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมถึงสภาผู้แทนราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมาธิการต่างๆในรัฐสภา เพื่อขอความเป็นธรรม ให้กับประชาชนที่ทำอยู่ทำกินมากว่า 30 ปี ก่อนที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมจะประกาศ แนวเขตอุทยาน แต่เมื่ออุทยานประกาศแนวเขตแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะไป ทำกินในพื้นที่ของตนได้ ต้อง เร่ร่อน ไปหาทำงานรับจ้างต่างถิ่น แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ ที่อุทยาน ให้ประชาชน ที่อยู่ในเขตอุทยาน สามารถมีพื้นที่ทำกินได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่จะต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมายของอุทยาน ก็ได้มีประชาชนมาขอเรียกร้องสิทธิเดิม ที่เคยอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมหรืออยู่ก่อนที่อุทยานจะประกาศ มาขอใช้สิทธิ์ ตามมาตรา 64 ของกฎหมายอุทยาน ที่ออกมาใหม่ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของการ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้มาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยาน และเจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์ และเพื่อมาสืบเสาะข้อเท็จจริง เรื่องที่ประชาชนได้ไปร้องเรียนขอความเป็นธรรม เพราะทราบมาว่า พื้นที่ดังกล่าว อาจจะมี เจ้าหน้าที่ บางนาย เรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับสิทธิต่างๆหรือสิทธิพิเศษ ที่จะได้มาหรือได้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ข้อพิพาท ซึ่งมีประชาชน ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 4,000 ครัวเรือน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาเวลา 9:30 น.ที่ห้องประชุม อุทยานแห่งชาติเขาแหลม (ป้อมปี่) นายอธิ อนันตสิน เจ้าหน้าที่ชำนาญการสอบสวนชำนาญการสำนักงานตรวจสอบ หน้าที่ของรัฐ และคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ตรวจการแผ่นดิน รวม 4 คนเดินทางมาแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ และร่วมประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม นายเทวินทร์มีทรัพย์ นายสุภาพ งามทองเหลือง และเจ้าหน้าที่อุทยานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทางด้านสหกรณ์มีนายณรงค์พล พัฒนศรี อดีตข้าราชการเกษียณ มาปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้ชำนาญการ มาให้ข้อมูลตอบข้อซักถาม กลับผู้ตรวจการแผ่นดิน และตอบคำถาม ที่ประชาชน ชาวสังขละบุรีและทองผาภูมิ ที่มาตั้งตาคอย รอคำชี้แจงว่าปัจจุบันเอง สหกรณ์นิคมสังขละบุรีและทองผาภูมิ จะรักษาอาณาเขตของตนเอง หรือจะยินยอม ยกอาณาเขตของตนเองให้กับอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เพราะที่ผ่านมา นายณรงค์พล ให้ข้อมูลมาลักษณะว่าทางสหกรณ์เอง จะมีการ ยกเลิกหรือ ให้สิทธิ์การครอบครองสหกรณ์บางส่วน ให้กับอุทยาน ทั้งที่ยังไม่มีการแก้ไขกฤษฎีกา และแผนที่แนบท้าย จนเสร็จ ทำให้เรื่องคาราคาซังมากว่า 29 ปี และเหตุ ใดทางสหกรณ์ ถึงจะยกเลิกเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์มีอำนาจกระทำได้หรือไม่? ทั้งที่ชาวบ้านเคยทำหนังสือสอบถาม ไปยัง อธิบดีสหกรณ์แล้ว ก็ตอบมาว่าพื้นที่ของสหกรณ์ทองผาภูมิและสังขละบุรียังไม่มีการยกเลิกเพิกถอน ให้ประชาชนสามารถทำอยู่ทำกินได้โดยปกติ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายอื่น
ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้เป็นการ ตอบข้อซักถาม ประเด็นที่สงสัยของชาวบ้านและเปิดโอกาสให้ ชาวบ้านจะสอบถามเรื่องต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดว่า ในที่ประชุมว่าจะสรุปเป็นเช่นไร หลังจากการประชุมเสร็จผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมตรวจสอบพื้นที่ ข้อพิพาท ที่มีประชาชนร้องเรียน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้สัมภาษณ์ กับสื่อมวลชนว่า ในการมาในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ มาแสวงหาข้อเท็จจริง ในเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะสรุปให้แน่ชัดได้เลย ต้องให้ ผู้ร้องเรียนนำเอกสารหรือหลักฐานมาประกอบการพิจารณา ต้องดูว่า พยานหลักฐานและเอกสารและข้อมูล ฝั่งไหนมีน้ำหนักมากกว่า ถึงจะสามารถจะสรุปได้ ว่าพื้นที่ข้อพิพาทดังกล่าว จะตัดสินเป็นเช่นไร
ทั้งนี้ทางคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจกจ่ายเอกสารแบบฟอร์มการร้องเรียนให้กับประชาชน ในพื้นที่กว่า 400 ชุด เพื่อให้ประชาชนผู้เดือดร้อนสามารถ ที่จะยื่นคำร้อง มายังผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อประกอบการพิจารณาและเป็นพยานหลักฐาน การชี้วัดว่า ประชาชนเดือดร้อนจากการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในพื้นที่จริงหรือไม่อย่างไร