อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไขข้อสงสัย!! การตรวจหาเชื้อ “โควิด-19” ด้วยชุดทดสอบ Rapid Test

1 min read

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไขข้อสงสัย!!การตรวจหาเชื้อ“โควิด-19”หลักๆมี 2 แบบ คือแบบ Real Time PCR และการใช้ชุดทดสอบRapid Test ชี้!! แบบ Real Time PCR ให้ผลแม่นยำและเร็วที่สุด ในขณะที่การตรวจโดยใช้ชุดทดสอบ Rapid Test แม้ขั้นตอนตรวจจะเร็ว แต่ตอนวินิจฉัยโรคช้า ถ้าต้องการผลที่ถูกต้องแม่นยำต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาตร์ทางการแพทย์และโฆษกกรมวิทยาศาสตตร์การแพทย์ กล่าวว่าการตรวจหาเชื้อ “ไวรัสโคโรนา 2019” หรือเชื้อ “โรคโควิด-19” หลักๆ มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบ Real Time PCR และอีกแบบคือการตรวจโดยใช้ชุดทดสอบ Rapid Test “การตรวจแบบReal Time PCR” คือการตรวจที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเป็นแบบมาตรฐานสากล Gold Standard เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรงโดยวิธีเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในการตรวจ เป็นวิธีการหลักในการวินิจฉัยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เป็นวิธีการตรวจที่ไวที่สุดและเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ข้อดีของการตรวจแบบ Real Time PCR คือ ให้ผลการตรวจที่แม่นยำกว่า สามารถตรวจหาเชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการน้อยๆ แต่มีค่าใช้จ่ายแพง

ขณะที่การตรวจด้วย “ชุดทดสอบหรือ Rapid Test”เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ใช้เวลาในการตรวจที่รวดเร็วไม่เกิน 15 นาที บางแห่งใช้เวลา 5 นาที หรือ 15 นาที โดยชุดตรวจ Rapid Test เป็นชุดตรวจที่ใช้ใน “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณวันที่ 5 –วันที่7 หลังจากร่างกายได้รับเชื้อแล้ว ฉะนั้นการตรวจแบบนี้กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าผลเป็นบวกหรือลบต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 -10 วันขึ้นไป หากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อไม่ถึง 5 วัน เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้นการตรวจด้วยอุปกรณ์นี้กว่าจะยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน สรุปว่าส่วนที่เร็วคือขั้นตอนการตรวจใช้เวลาแค่ 5 นาทีเสร็จ แต่การวินิจฉัยโรคถือว่าช้า ซึ่งการสรุปผลการตรวจต้องพิจารณาร่วมกับอาการของผู้ติดเชื้อด้วย กล่าวคือ “ขั้นตอนการตรวจเร็วแต่ตอนวินิจฉัยโรคช้า” ถ้าต้องการผลที่ถูกต้องแม่นยำ ต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาชุดทดสอบโควิด-19 เป็นชุดทดสอบแบบง่ายและยังอยู่ในกระบวนการของนักวิจัย สำหรับการวิจัยพัฒนาหรือการสั่งนำเข้าชุดทดสอบโควิด-19 มาจากต่างประเทศ เพื่อจำหน่าย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ในการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียน เพราะชุดทดสอบถูกจัดให้เป็นเครื่องมือแพทย์และอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับหน้าที่ในการตรวจประเมินประสิทธิภาพของชุดทดสอบนั้นๆและให้อย.เป็นผู้ขึ้นทะเบียนรับรองชุดทดสอบเพื่อการนำเข้าหรือจำหน่าย
ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าประชาชนยังไม่ควรหาซื้อชุดทดสอบหรือชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันมาตรวจเองเพราะมีข้อจำกัดในการสรุปผลและแปลผล เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ ต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนการตรวจโควิด-19 นั้นขึ้นอยู่กับประวัติและอาการของผู้ป่วย แนะนำว่าในคนที่ไม่มีอาการยังไม่ควรตรวจเพราะอาจไม่เจอเชื้อหรือได้ผลแสดงเป็นลบ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้อ แนะนำให้เฝ้าระวังและกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันให้ครบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในผู้ที่มีประวัติ

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.