รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว ลุยยึดที่ดินนายทุนมาจัดสรร ส.ป.ก.4-01 แจกให้คนจน (มีคลิป)
1 min readรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้ายึดที่ดินจากนายทุนมาจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล โดย จ.สระแก้ว มีเนื้อที่เตรียมดำเนินการอีก จำนวน 78 แปลง เนื้อที่ 87,071 ไร่ พื้นที่ 4 อำเภอคือ อรัญประเทศ, โคกสูง ,วัฒนานคร และวังน้ำเย็น พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ หวังส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เป็นประธานพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้กับเกษตรกรในในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว 150 ราย พร้อมมอบบัตรดินดี ให้เกษตรกร 20 ราย พื้นที่แปลง คทช.ที่ 421 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองหินปูน อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยมี โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ จ.สระแก้ว ,นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ ถือเป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการจัดการที่ดินและดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)
ทั้งนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว (ส.ป.ก.สระแก้ว) จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 ตาม พรบ.จัดตั้งจังหวัดสระแก้ว แยกมาจากจังหวัดปราจีนบุรี ได้ดำเนินการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยมีพื้นที่ดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 2.04 ล้านไร่ ประกอบด้วย 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว เขาฉกรรจ์ คลองหาด โคกสูง ตาพระยา วังน้ำเย็น วังสมบูรณ์ วัฒนานคร และอรัญประเทศ โดยได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแก่เกษตรกรแล้ว จำนวน 0.20 ล้านราย 0.13 ล้านแปลง เนื้อที่รวม 1.30 ล้านไร่ มีพื้นที่คงเหลือประมาณ 0.74 ล้านไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการในลำดับต่อไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องสิทธิการเข้าอยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยพื้นที่กว่า 80% ในจังหวัดสระแก้วอยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำหรับพื้นที่แปลง คทช. No.421 เป็นการตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ซึ่งได้จัดสรรในรูปแบบสหกรณ์ มีเกษตรกรเข้าอยู่อาศัยจำนวน 36 ครอบครัว โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้ามาดูแลและส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างครบวงจร และเป็นโอกาสดีที่ได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนลำไย เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐาน GAP และแรงงานในสวนลำไย ซึ่งจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้หลังจากนี้
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการในพื้นที่การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) นั้น ส.ป.ก. ประกาศเป็นพื้นที่ คทช. ทั้งประเทศประมาณ 0.40 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 78 แปลง เนื้อที่ 87,071 ไร่ สามารถยึดคืนมาดำเนินการโดยให้สถาบันเกษตรกรเช่าทำประโยชน์แล้วจำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเย็น จำกัด สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภออรัญประเทศ (คทช.) จำกัด สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด และสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด ทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินจำนวน 301 ราย เนื้อที่จำนวน 3,304 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดที่ดินให้สถาบันเกษตรกรเพิ่มเติมอีกจำนวน 2,405 ไร่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่เกษตรกรในที่ดิน คทช. อาทิ การสร้างถนนเข้าพื้นที่ แหล่งน้ำ และบ้านพัก เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นายวิศิน ฟองสมุทร อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 11 ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ซึ่งได้รับเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 เนื้อที่ 29 ไร่เศษ บอกว่า รอคอยเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.มาตั้งแต่ปี 2520 จนปัจจุบันจึงได้รับ ส.ป.ก.ซึ่งตนดีใจมาก และจะนำที่ดินไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำติดต่อกันมานานต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่นเดียวกับ นางเฟื่อง พิมพ์ศร อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 ม.11 ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ซึ่งได้รับจัดสรรที่ดินในโครงการ คทช. เนื้อที่ 6 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินทำกิน 5 ไร่และที่อยู่อาศัย 1 ไร่ บอกว่า รู้สึกดีใจมาก จากเดิมมีที่ดินของพ่อแม่เพียงแค่ไม่กี่งาน ตอนนี้มีที่ดินไว้ทำการเกษตรแล้ว จะตั้งใจพัฒนาที่ดินให้มีรายได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทืองแก่กลุ่มเกษตรกรตำบลคลองหินปูน ตั้งแต่ปี 2559 หมอดินอาสาประจำตำบลได้เริ่มปลูกปอเทืองเพื่อขายเมล็ดพันธุ์คืนให้กับสถานีพัฒนาที่ดินสระแก้ว โดยได้นำไปปลูกหลังการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ช่วงเดือนสิงหาคม จำนวน 40 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ คิดเป็นกำไร ไร่ละ 4,700 บาท/ไร่ จากต้นทุนการผลิต 1,300 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 300 กก. ขายกก.ละ 20 บาท คิดเป็นเงิน 6,000 บาท ต่อมาในปี 2561 มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 10 ราย รวมพื้นที่ 100 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น หลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเมื่อถึงฤดูการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สภาพดินมีคุณภาพดีขึ้น สามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีจาก 50 กก./ไร่ เหลือเพียง 25 กก./ไร่ ได้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 800 กก./ไร่ เป็น 1,000 กก./ไร่ เป็นต้น
ภาพ/ข่าว นายยุทธนา พึ่งน้อย ผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว