รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ลงตรวจท่าข้าว พร้อมการหารือและติดตามสถานการณ์การค้าข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ (มีคลิป)
1 min readเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำทีมกระทรวงพาณิชย์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปสำรวจท่าข้าวของบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 3 ม.3 ต.บางคูวัด อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย พร้อมกันนี้ได้จัดประชุมหารือกับผู้แทนจากภาคการผลิต ได้แก่ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมชาวนาข้าวไทย และสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน การแปรรูป ได้แก่ สมาคมโรงสีข้าวไทย และการตลาด ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออกข้าวไทยในภาพรวม พร้อมกำหนดแนวทางมาตรการการส่งออกข้าวให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี รอง ผวจ.ปทุมธานี ให้การต้อนรับ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVD-19 ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวชั่วคราว อาทิ เวียดนาม อนุญาตให้ส่งออกข้าวปริมาณ 4 แสนตันต่อเดือน ในช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2563 ในขณะที่เมียนมา จำกัดการส่งออกที่ปริมาณ 1 แสนตันต่อเดือน และจะไม่มีการออกใบอนุญาตส่งออกเพิ่มเติม และกัมพูชา ระงับการส่งออกข้าวขาวและข้าวเปลือก ซึ่งจากมาตรการต่างๆ ของประเทศผู้ส่งออกข้าวดังกล่าว ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าว เช่น ฟิลิปปืนส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และสหรัฐฯ มีแนวโน้มหันมานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น คาดว่าในปี 2563 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (มกราคม – มีนาคม) ไทยส่งออกข้าวปริมาณรวม 1.53 ล้านตัน (เฉลี่ย 5.1 แสนตันต่อเดือน) ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2562 ร้อยละ 36.48 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่า 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะด้านการขนส่ง การกระจายสินค้า และการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญอย่างเวียดนามกัมพูชา และเมียนมา ออกประกาศควบคุมการส่งออกข้าวในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ข้าวไทยมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวของไทยทำให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 2 (เมษายน – มิถุนายน) ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวคุณภาพดีจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ยังติดปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้าในระหว่างที่ใช้มาตรการปิดประเทศ (Lockdown) และควบคุมการส่งออกข้าวชั่วคราว ในไตรมาส 2 คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 1.99 ล้านตัน (เฉลี่ย 663,289 ตันต่อเดือน)
นอกจากนี้ จากการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว ทั้งผู้แทนภาคเกษตรกร โรงสีและผู้ส่งออก ถึงสถานการณ์ตลาดข้าวไทยปีนี้ ทำให้มั่นใจว่าไทยยังมีปริมาณสต็อกข้าวซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก โดยคาดว่าในฤดูการผลิตปี 62 / 63 จะมีผลผลิตข้าวรวมประมาณ 18.5 ล้านตันข้าวสาร
ภาพ/ข่าว สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม รายงาน