ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมทีมบุคลากรให้กำลังใจเติมเต็มบางส่วน มอบถุงยางชีพ เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ (มีคลิป)
1 min readศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมทีมบุคลากรให้กำลังใจเติมเต็มบางส่วน มอบถุงยางชีพ เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ ช่วยบรรเทาปัญหาและผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภาพรวมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของประเทศไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร หลายจังหวัดในพื้นที่ยังคงปิดจังหวัด ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออก และมีบางพื้นที่ที่ต้องประกาศเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง
เมื่อตลาดหยุดให้บริการ พื้นที่สาธารณะร่วมกันปิด พ่อค้า แม่ค้า ไม่สามารถออกทำมาค้าขายได้ ผลที่ตามมาคือสภาพเศรษฐกิจเริ่มถดถอย ประชาชนเริ่มเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีรายได้ในการดำรงชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือช่วยกันจัดทำถุงยังชีพแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ได้เห็นถึงปัญหาและรับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหาร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและบุคลากร จึงได้ระดมทีมเปลี่ยนห้องตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนมาผลิตเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์คุณภาพสูงจำนวนกว่า 10,000 ขวด แจกจ่ายไปยังทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากแอลกอฮอล์แล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี นำโดย ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รอง ผอ.ศูนย์ฯ พร้อม นายไพศาล ดะห์ลัน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ยังได้จัดเตรียมสิ่งของ 3,500 ชิ้น จัดทำถุงยังชีพได้ จำนวน 500 ชุด กับชุดหน้ากากผ้าและแอลกอฮอล์แบบเจลและสเปรย์จำนวน 500 ชุด ส่งมอบกระจายไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2563 ลงแจกจ่ายผ่านตัวแทนยังจุดต่าง ๆในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส ดังนี้
- สาธารณสุขอำเภอบันนังสตา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
- โรงพยาบาลบันนังสตา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
- สาธารณสุขอำเภอยะหา ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
4.สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดยะลา - พื้นที่ตำบลโคกสตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
- พื้นที่ตำบลจวบ ตำบลมะรือโบ ตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส
รศ.ดร. นิฟาริด ระเด่นอาหมัด หัวหน้าสำนักงานปัตตานีและรอง ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาฯ กล่าวว่า ภารกิจเดิมดูแลเรื่องการรับรองฮาลาลทำงานกับกรรรมการอิสลามประจำจังหวัด แต่สภาวะเช่นนี้ การให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นความจำเป็น วิทยาศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับฮาลาลความเข้าใจของเรื่องสาธารสุขกับเรื่องอิสลามไม่มีอะไรขัดแย้งเลย เราต้องพยายมให้ความรู้ในส่วนนี้แล้วก็ประสานแล้วประยุกต์ใช้ให้ได้ในทุกพื้นที่เราจะมีความเชื่อมั่นว่าการประกอบศาสนากิจที่ถูกต้องตามศาสนาอิสลามแล้วก็มีพื้นฐานมารองรับจะเป็นการทำงานที่สมบูรณ์มากขึ้น ยกตัวอย่างการเตรียมน้ำละหมาดจะเดิมเราจุ่มมือในอ่างน้ำขนาดใหญ่ถือว่าปริมาณน้ำพอแล้ว ซึ่งโดยการพิสูจน์นั้นพบว่าอาจจะมีเชื้อบางส่วนปนเปื้อนอยู่ ก็จะพยายามแนะนำว่าให้เปลี่ยนเป็นก๊อกน้ำจะได้ป้องกันระดับหนึ่งการล้างมือหรือสบู่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย อยากเชิญชวนว่า ก่อนเตรียมน้ำละหมาดล้างมือด้วยสบู่ก่อน
ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันหนักแน่นและเชื่อมั่นว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ภาพ/ข่าว อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา