ผอ.ประยุทธ์ฯ จัด Live สด! สัมภาษณ์ “ดร.วิจารย์ สิมาฉายา” ประเด็น ทางออกของปัญหาขยะในไทยที่ (ยัง) แก้ไขได้
1 min readนายประยุทธ์ หลักคำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้(สพร.) สำนักงาน กศน. ได้มอบหมายให้นางสาวเจนกิจ นัดไธสง บรรณารักษ์ศูนย์การเรียนรู้วังจันทรเกษม จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ ผ่าน Live สด!! สู้โควิด “เน้น” ชมที่บ้าน ปลอดภัย ได้ความรู้ โดยเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมสัมภาษณ์ในรายการฟังสบายๆ สไตล์รุ่งรัชนี ช่วงสัมภาษณ์ผู้คร่ำหวอดทุกวงการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มพูนพัฒนาทักษะและการเข้าถึงหนังสืออย่างง่าย ตามสโลแกน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2563 ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติร่วมสัมภาษณ์ในรายการฯ ทางโทรศัพท์ผ่านการ Live สด!! Fanpage ศูนย์การเรียนรู้วังจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ถึงการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย กับทางออกของปัญหาขยะ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ท่านเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งแวดล้อม และนักสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก จากวิชาการที่เข้มแข็ง และการศึกษาระดับสูงสุดระดับปริญญาเอกด้านสิ่งแวดล้อม จากประเทศคานาดา ได้รับใช้ชาติในระดับต่างๆ จากเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จนถึงระดับสูงสุดในระบบราชการคือ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนเกษียณอายุราชการ ท่านเป็นบุคคลที่ทุ่มเทและทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เป็นหน่วยงานกลางด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและชุมชนในพื้นที่ และได้ร่วมในคณะกรรมการต่างๆ ของประเทศ อาทิ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะอนุกรรมการด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ผลการทำงานที่โดดเด่นที่ผ่านมา ประกอบด้วย การจัดการมลพิษทางน้ำ ด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ การจัดการขยะและของเสีย การจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และการสร้างการมีส่วนร่วมด้านงานสิ่งแวดล้อม
บทบาทหน้าที่ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยคือ ?
.
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานโดยไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 ดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัยทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ มาเป็นเวลา 27 ปี มีบทบาท คือ การเป็นคลังสมอง เป็นหน่วยที่จะคิด เป็นองค์กรพัฒนาองค์กรเอกชน เป็นองค์การด้านสิ่งแวดล้อมที่จะประสานหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ที่จะร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรชี้นำในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ และก็มีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
สถานการณ์ขยะในประเทศไทยเป็นอย่างไร เป็นปัญหาไหม และส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง ?
.
หลายปีที่ผ่านมา “ปัญหาขยะ” เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกต่อสู้มาอย่างยาวนาน และกำลังเป็นวิกฤต รวมถึงไทยด้วย ในประเทศไทยมีขยะประมาณ 28 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยแล้วใน 1 วัน เราสร้างขยะถึง 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขยะมูลฝอย ในกรุงเทพมหานครเฉลี่ย 10,500 ตันต่อวัน มีปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยขยะมูลฝอยจะถูกคัดแยก ณ ต้นทาง และขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์(ส่วนใหญ่เป็นขยะรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์) แต่ถูกทิ้งรวมๆ กันมาไม่น้อยกว่า 20% และถูกชะลงทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขยะ 35% ถูกจัดการอย่างไม่เหมาะสม หลายคนอยู่กับความเคยชินจนลืมไปว่า เราเองนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของปัญหาขยะ 1 ชิ้น จากบ้านสู่ชุมชน จากชุมชนสู่จังหวัด จากจังหวัดสู่ประเทศ และจากประเทศสู่โลกในที่สุด กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามไปเรื่อยๆ
ถามว่าขยะเป็นเรื่องของใครถ้าเราทิ้งขยะไปแล้วก็เป็นเรื่องขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะต้องจัดการต่อไป ซึ่งในประเทศไทยเรามีสถานที่จัดการขยะมูลฝอยทั้งหมดที่ท้องถิ่นดูแลทั้งหมดประมาณ 3,206 แห่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่เรายังทำไม่ถูต้องตามหลักวิชาการเพียงนิดเดียว เราบริหารจัดการขยะได้จริงๆ เพียง 27% อีก 79% เป็นการจัดการไม่ถูกต้องของขยะที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือ เรื่อง “ขยะพลาสติก” ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุด ปัญหาขยะพลาสติกเวลาอยู่ในน้ำ อยู่ในทะเล จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 400 กว่าปี เพราะฉะนั้นเราเริ่มใช้ขยะพลาสติกเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ขยะพลาสติกก็ยังอยู่ในทะเล ในขณะเดียวกันถ้าเราเพิ่มปริมาณการใช้ขยะพลาสติก ก็จะเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเลที่เป็นชิ้นเล็กๆ ที่เขาเรียกว่า “ไมโครพลาสติก” ซึ่งขณะนี้งานวิจัยต่างๆ มีมากมายระบุว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ ในสัตว์ทะเล ท้ายที่สุดคนก็บริโภคหรือกินสัตว์ทะเล ก็จะสะสมไมโครพลาสติกเข้าในร่างกายไปด้วย
ขยะมีกี่ประเภท ทำไมต้องแยกขยะ และมีวิธีแยกขยะอย่างไร ?
ขยะในประเทศไทย แบ่งออกได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ ขยะอินทรีย์ (หรือขยะเปียก) ขยะอันตราย พวกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ พวกหลอดไฟ กระป๋องสีต่างๆ กระป๋องสเปรย์ที่เราใช้ฉีดฆ่าแมลงในบ้าน พวกนี้ถือว่าเป็นขยะอันตราย, ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติกต่างๆ และขยะทั่วไป การแยกขยะเป็นสิ่งจำเป็น อย่างที่บ้านเรา หน้าบ้านเรามีถังขยะใบเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขยะรีไซเคิลเราแยกไว้ก่อนเลย ซึ่งสามารถที่จะจำหน่ายได้ ขายได้ แต่ถ้าไม่อยากขายก็มีซาเล้งมาหน้าบ้าน เราก็ให้เขาไปได้ ไม่ต้องไปทิ้งในถังขยะทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะแยกขยะประเภทต่างๆ ถามว่าเราจะต้องทิ้งให้ถูกไหม? บางทีเราเลือกไม่ได้ว่าเราจะทิ้งขยะตรงไหน บางทีถังขยะไม่ได้เอื้ออำนวยให้ ยกตัวอย่างเช่น ที่สนามบิน มีถังขยะ 2 แบบ คือ ถังขยะรีไซเคิลกับขยะทั่วไป บางคนก็ทิ้งไม่รู้ว่าเป็นขยะประเภทไหนซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องแยก เพราะคนไทยส่วนมากจะไม่รู้ว่าเราจะต้องแยกขยะอย่างไร อย่างเช่นกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วก็คือขยะทั่วไปไม่สามารถที่จะนำมารีไซเคิลได้ ในขณะเดียวกันพลาสติกก็ต้องทิ้งในถังขยะรีไซเคิล หลายประเทศที่เจริญแล้วอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นเขาแยกขยะได้ 30 ประเภท เขาก็สามารถทำได้ แต่คนไทย ทำไม่ได้
หลายคนมีถามว่า ขยะ ทำไมต้องแยก สาเหตุที่เราต้องแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการในขั้นตอนต่อไป โดยการจำแนกประเภทขยะมีหลายวิธี แต่ที่นิยมในปัจจุบันคือการทิ้งตามสีของถังขยะ เพราะขยะแต่ละประเภทวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน ขยะบางประเภทมีคุณค่า ยกตัวอย่าง เช่น พลาสติกที่ใช้แล้วนำขวดน้ำพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ขวดพลาสติกจากน้ำที่เราดื่มอยู่ทุกวันนี้ 12 ขวด นำมาผลิตเสื้อยืดโปโลได้ 1 ตัว แต่ที่มีปัญหาก็คือเรารวบรวมไม่ได้เพราะคนมักทิ้งทั่วไป อีกส่วนก็คือขยะอินทรีย์ หรือ ขยะที่ย่อยสลายได้ ขยะที่เป็นเศษอาหาร สามารถนำมาหมักเป็นสารบำรุงดิน ทำปุ๋ยหมักได้ หรือถ้ามีปริมาณมากๆ ก็ไปหมักให้เกิดแก็สเกิดพลังงานได้อีกด้วย ขยะอีกประเภทหนึ่งก็คือขยะอันตราย หรือขยะพิษ เช่น หลอดไฟ กระป๋องสี กระป๋องสารเคมี น้ำมันเครื่องฯลฯ จะทิ้งรวมกับขยะทั่วไปไม่ได้ ควรแยกทิ้งขยะอันตรายเท่านั้น หากเราสามารถแยกขยะเบื้องต้นได้ดังนี้แล้ว เมื่อขยะถูกลำเลียงไปยังสถานที่จัดการขยะที่ได้มาตรฐาน ขยะเหล่านี้จะเป็นขยะที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการที่กำจัดได้ รีไซเคิลได้ หมักปุ๋ยได้ แยกกำจัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด หรือในกรณีที่กระบวนการจัดการมีประสิทธิภาพ อาจนำไปสร้างเป็นมูลค่าให้กับสังคมและประเทศ
ขยะอันตรายจากชุมชน นำไปเผาได้ไหม ?
.
ขยะอันตรายเผาได้ ขยะอันตรายเป็นวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพหรือภาชนะบรรจุต่างๆ ที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุ สารเคมีอันตรายชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นสารพิษ สารไวไฟ สารเคมีที่กัดกร่อนได้ สารกัมมันตรังสี และเชื้อโรคต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการที่ดีที่สุด คือ การเผาทำลายโดยใช้เตาเผาที่มีประสิทธิภาพใช้อุณภูมิความร้อนสูง ประมาณ 1,000 – 1,200 องศาเซลเซียส และต้องมีระบบบำบัดมลพิษถูกต้องตามหลักวิชาการ ถึงจะเผาขยะอันตรายเหล่านี้ได้
ในมุมมองของการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
.
โรงไฟฟ้าขยะเราก็มีการพูดถึงมานานแล้วต้องเรียนทุกท่านว่าตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยหลายพื้นที่ 3000 กว่าท้องถิ่นเราจัดการถูกต้องตามหลักวิชาการได้เพียง 20 % เท่านั้นเอง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาขยะที่มาทำโรงงานไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งเหมาะกับประเทศไทยในหลายๆ เมือง ที่มีขยะปริมาณมากถึง 300 ตันต่อวันขึ้นไปก็สามารถที่จะดำเนินการได้ หรือเมืองที่มีขยะไม่ถึงแต่ก็สามารถรวมกันกับเมืองอื่นได้ ซึ่งตรงนี้ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกันแล้วส่วนหนึ่งที่เราได้มากับการจัดการขยะ คือ พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งแต่อย่าถามนะครับว่ามันคุ้มทุนหรือเปล่าเพราะว่าหลายประเทศมีโรงไฟฟ้าขยะ เขาไม่ได้เอาโรงไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนที่เป็นหลักคือหลักความคิดของเขาที่ต้องมีการจัดการจัดการขยะที่ถูกหลักวิชาการซึ่งโรงไฟฟ้าขยะจะต้องมีระบบบำบัดมลพิษให้ได้ตามมาตรฐานมีการตรวจวัดทางอากาศตรวจวัดสารพิษต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นระบบที่จะต้องลงทุนสูงแต่ก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งนี้ทั้งนั้นท้องถิ่นต่างๆ ที่มีกำลังขยะมากพอหรือการร่วมมือกันระหว่างหลายๆ ท้องถิ่นจะทำอย่างไรให้มีโรงงานไฟฟ้าขยะเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันพิจารณาในเรื่องสร้างโรงงานเพราะว่าตอนนี้เราใช้วิธีทิ้งฝังกลบขยะโดยใช้พื้นที่เยอะมาก ที่จัดเก็บใกล้ๆเมืองก็หายาก ก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งเหมาะกับหลายๆ เมืองที่มีขยะในปริมาณมาก
มุมมองต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตของประเทศในอนาคต ?
.
ในปัญหาสิ่งแวดล้อมแนวโน้มในอนาคตที่เป็นห่วงซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้วอย่างกรณีภัยแล้ง น้ำท่วม ปีนี้ก็แล้งจัดได้โควิดมาช่วยหน่อยเพราะฉะนั้นปัญหาภัยแล้งก็ได้รับการแก้ไขบ้างแต่ปัญหาก็ยังคงมีและวนกลับมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นระบบบริหารจัดการก็เป็นเรื่องสำคัญทั้งเรื่องน้ำท่วมทั้งภัยแล้ง กรณีขยะพลาสติกในทะเลเรามีการบริหารจัดการอย่างไร ถ้าจะมีโรงงานไฟฟ้าที่จะสร้างเทศบาลไหนบ้างที่จะสร้างร่วมกันบ้างเรื่องนี้เราต้องคิด ลดที่ต้นทางและท้ายสุดปลายทางจะต้องมีระบบการเก็บการรวบรวมจัดการที่ถูกหลักวิชาการด้วย และปัญหาเรื่องฝุ่น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นจากการเผาขยะในพื้นที่โล่งกรณีของพื้นที่ภาคเหนือการเผาพื้นที่ป่าเกษตรเรื่องนี้เราต้องหาทางออกที่ชัดเจน เพราะปีนี้ปัญหาค่อนข้างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือกรณีของฝุ่น PM ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเกิดจากการจราจรเกิดจากสภาพอากาศปิดต้องนี้เราจะมีระบบแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะการจราจรที่หนาแน่นการใช้น้ำมันดีเซลตรงนี้เราจะแก้อย่างไร ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันวางแผนถือว่าโควิค-19 เป็นจังหวะโอกาสที่เราได้วางแผนแก้ไขปัญหาล่วงหน้าและเรื่องขยะที่มีปัญหาค้างคามานานจะมีระบบทางออกอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ
ฝากถึงประชาชนเกี่ยวกับการจัดการขยะ และการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ?
.
เรื่องของสิ่งแวดล้อมและขยะเป็นเรื่องของเราตามที่ได้ให้ข้อมูลไปแล้วนะครับ เราทุกคนสร้างขยะเพราะฉะนั้นการที่จะลดขยะ ต้องปฏิเสธขยะที่ไม่จำเป็นก็เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนเวลาไปช็อปปิ้ง งดถุง ใช้ถุงผ้าใช้แล้วใช้อีกทำอย่างไรให้ถุงผ้าติดอยู่กับเราตลอดเรื่องนี้ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และท้ายที่สุดถามว่าขยะเป็นศูนย์ได้ไหม ในช่วงระยะใกล้ๆเช่นนี้ยังเป็นไปไม่ได้นะครับ เราต้องมีระบบบริหารจัดการ กรณีของโรงไฟฟ้า กรณีของเตาเผาซึ่งตรงนี้เราต้องสนับสนุน แต่ที่เราต้องคอยช่วยกันดูแลก็คือการสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีระบบการจัดการที่ดีมีระบบการจัดการมลพิษจะไม่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมซึ่งต้องนี้เราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพราะถือว่าเป็นเรื่องของทุกคนครับ
ภาพ/ข่าว เจนกิจ นัดไธสง รายงาน