อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

กรมการแพทย์แนะแนวทางการจัดตั้ง Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID-19) (มีคลิป)

1 min read

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้แนะแนวทางการจัดตั้ง Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ระยะหนึ่งแล้วและมีอาการที่ดีขึ้นแต่ยังคงต้องทำการกักตัวเพื่อสังเกตอาการได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

เนื่องจากระยะเวลาการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 นั้นมีระยะเวลาในการ Admit เพื่อทำการรักษาและติดตามผลเป็นเวลานาน การจัดตั้ง Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการที่ดีขึ้นแล้ว จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลสามารถจัดการและบริหารเตียงสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่มีอาการหนักหรือความเสี่ยงสูงได้อย่างทั่วถึง

ทางด้านโรงแรมที่ทำการประสานงานกับโรงพยาบาลต้นทางเพื่อการจัดตั้ง Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) จะต้องมีการเตรียมการสถานที่ ดังต่อไปนี้
1.ในห้องพักไม่ควรมีพรม ผ้าม่าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
2.ทำการล็อกประตู และหน้าต่างระเบียงของห้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
3.สำหรับระบบปรับอากาศดีที่สุดควรจะเป็นแบบแยกห้อง หากเป็นแบบรวมควรจัดแยกเป็นชั้น
4.มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน
5.ควรมีสัญญาณ wi-fi และโทรศัพท์ในทุกห้องเพื่อให้บุคลากรผู้ดูแลสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้

โดยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่เข้าเกณฑ์และสามารถเข้าพักใน Hospitel ได้นั้น จะต้องมีการยืนยันครบทั้ง 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอด (chest x – ray) คงที่
2.ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว ไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
3.ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน ความดัน ต้องควบคุมอาการได้ดี มีเพียงยารับประทาน
4.ต้องจัดยามาพร้อมสำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตนเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
5.ทางโรงพยาบาลต้นทางยินดีมารับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลต้นทาง หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง

สำหรับโรงพยาบาลต้นทางที่ประสานจัดตั้ง Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) จะต้องมีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ไปประจำจุด Hospitel โดย หมอ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล ควรมีสัดส่วน 3 คนต่อคนไข้ 100 คนเป็นอย่างน้อย และทำการจัดอบรมบุคลากรของโรงแรมโดยทีมแพทย์เพื่อรับกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 ที่เข้าพักรักษาใน Hospitel และควรจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์สำคัญ ได้แก่ thermometer เครื่องมือวัดไข้แบบอัตโนมัติ และ Oximeter เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ ไว้ในทุกห้อง

การเข้าพักรักษาและสังเกตอาการใน Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) ผู้ป่วยจะต้องกักตัวอยู่เฉพาะในห้อง ยกเว้น การออกมารับอาหารที่หน้าห้องตามเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ผู้ป่วยจะต้องทำการวัดอุณหภูมิร่างกาย และวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือด้วยตนเองและรายงานผลให้พยาบาลผู้ดูแลทราบตามเวลาที่กำหนด โดยระยะเวลาการเข้ารับการรักษาจะถูกแบ่งเป็นรักษาท่ี่โรงพยาบาลต้นทางก่อนอย่างน้อย 7 วันและเข้าพักรักษาสังเกตอาการใน Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ COVID -19) ไม่น้อยกว่า 7 วัน เมื่อผู้ป่วยนั้น ไม่มีอาการ ไข้ ไอ และตรวจไม่พบเชื้อแล้วจึงสามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ โดยจะต้องทำการแยกกักตัวสังเกตอาการ (Self-Isolation) ภายในบ้านอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์จนครบระยะเวลา 1 เดือนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชน

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.