ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เผยความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัย COVID-19 (มีคลิป)
1 min readผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เผยความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัย COVID-19 มุ่งหวังเป็นสถานฝึกอาชีพให้ประชาชนมีความรู้จากการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
พลตรี สมดุลย์ เอี่ยมเอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศปพร.) กองทัพภาคที่ 4 เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้ากิจกรรมปรับพื้นที่ โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” จุดแรกที่ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านโคกไร่ใหญ่ ตำบลสุไหงปาดี และจุดที่ 2 ที่ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านโคกโก ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีนายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอสุไหงปาดี พันเอก รุ่งโรจน์ อนันตโท ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 หัวหน้าคณะทำงานฯ ที่ 3 พันเอก ภูมิ โพพี ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าโครงการฯ
พลตรี สมดุลย์ เอี่ยมเอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส/ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศปพร.) กองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกร ที่ย้ายกลับภูมิลำเนาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้มีอาชีพ มีงานทำ และมีรายได้ โดยใช้ประโยชน์จากฟาร์มตัวอย่างฯ เป็นที่ทำกิจกรรมตามโครงการโคก หนอง นา โมเดล โดยได้น้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่เกษตร โดยมีการผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นโมเดลต้นแบบที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร โดยมุ่งหวังที่จะสร้างจุดเปลี่ยนให้กับชุมชน ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 กล่าวคือ 30% แรกสำหรับแหล่งน้ำ ทั้งการขุดบ่อทำหนองและการขุดคลองไส้ไก่ที่ช่วยระบายน้ำรอบพื้นที่ อีก 30 % สำหรับปลูกข้าว และอีก 30% สำหรับไว้ทำโคกหรือป่า โดยปลูกผักไว้เป็นอาหาร ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกยาสมุนไพร ส่วน 10% ที่เหลือ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากลงมือทำลักษณะเช่นนี้ในหลาย ๆ จุดของประเทศ โคก หนอง นา โมเดล ก็จะช่วยได้มากกว่าการบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร เพราะจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส กำหนดดำเนินโครงการโคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ จำนวน 6 แห่ง ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 213 คน ซึ่งมีแนวทางการอบรมและฝึกปฏิบัติ 6 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 เตรียมพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการ เป็นการเตรียมพื้นที่โดยเครื่องจักรหนัก การอบรมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา” และการเตรียมพื้นที่โดยแรงงานคน
สำหรับความคืบหน้าของกิจกรรมปรับพื้นที่ โครงการโคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด 19 บ้านโคกไร่ใหญ่ ตำบลสุไหงปาดี และบ้านโคกโก ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีความคืบหน้าตามลำดับ พร้อมเตรียมจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือเพิ่มเติมสนับสนุนการดำเนินการปรับพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ด้านว่าที่ร้อยตรี ไพบูลย์ พืชนุกูล จิตอาสา 904 หลักสูตรหลักประจำ รุ่นที่ 4/62 หนึ่งในจิตอาสา 904 ที่ร่วมปฏิบัติงาน ณ พื้นที่โครงการฯ บ้านโคกไร่ใหญ่ กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ไม่มีงานทำขาดรายได้ ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัย COVID-19 ซึ่งมีค่าตอบแทนจากกระทรวงแรงงานวันละ 300 บาท พื้นที่โครงการฯ บ้านโคกไร่ใหญ่มี 35 ไร่ ขณะนี้กำลังดำเนินการปรับพื้นที่เฟสที่ 1 โดยเครื่องจักรหนัก ขณะเดียวกันมีการเพาะพันธุ์กล้า อาทิ ชะอม หน่วยงานประมงจังหวัดนราธิวาส ได้ปล่อยพันธุ์ปลาแล้ว กว่า 20,000 ตัว จากนั้นคนที่เข้าร่วมโครงการก็จะลงมือภาคปฏิบัติ อาทิการปลูกพืช เน้นการกินใช้ในครัวเรือน ที่เหลือก็แบ่งปันและจำหน่ายเป็นรายได้ของสมาชิก
ข่าว.ซาการียา ดอเลาะ จ.นราธิวาส