นราพัฒน์ ผช.รมต.เกษตรมั่นใจชลประทานสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมสามารถช่วยแก้ภัยแล้ง (มีคลิป)
1 min readกระทรวงเกษตรฯเล็งเห็นความสำคัญของแม่น้ำยม หนุนกรมชลประทานสร้างประตูน้ำในแม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เชื่อมั่นใช้ประโยชน์กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้แน่นอน “ นราพัฒน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้าง มั่นใจการก่อสร้างน่าจะแล้วเสร็จได้ใช้งานฤดูน้ำหลากปีนี้ ชี้แจงกรมฝนหลวงขึ้นบินทำฝนเทียมทุกวัน
วันที่ 23 พ.ค. 2563 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ในเขตลุ่มน้ำยมของจังหวัดพิจิตร โดยได้เดินทางไปที่บริเวณการก่อสร้างประตูระบายน้ำที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร บริเวณแม่น้ำยม ซึ่งแต่เดิมจุดดังกล่าวเป็นฝายยางก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2554 ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2561 เกิดชำรุดทรุดโทรม กรมชลประทานจึงจัดสรรงบประมาณจำนวน 160 ล้านบาทเศษ ให้ดำเนินการสร้างขึ้นใหม่เป็นฝายไฮดรอลิก ( Hydraulic ) แบบฐานพับได้ “ฝายพับได้” ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้มี นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร , นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และผู้นำชุมชนร่วมให้การต้องรับ ซึ่งจากการดูความคืบหน้าของการก่อสร้างนายช่างผู้ควบคุมงานอธิบายว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการของกรมชลประทานทำเองมีระยะเวลา 4 เดือนต้องแล้วเสร็จ ซึ่งลงมือดำเนินการมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 และมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูน้ำหลากในปี 2563 นี้ อย่างแน่นอน
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กล่าวว่า สำหรับการก่อสร้าง ปตร.สามง่ามแห่งนี้ เป็นฝายไฮดรอลิก ( Hydraulic ) แบบฐานพับได้กว้าง 68 เมตร สูง 3.60 เมตร เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั้งสองฝากฝั่งของแม่น้ำยมในเขต อ.สามง่าม จะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จำนวนหลายหมื่นไร่ รวมถึงในแม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรก็จะมีการสร้างประตูระบายน้ำและฝาย ซึ่งรวมแล้วจะมีมากถึง 5 แห่ง ซึ่งจะทำให้ลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร ในอนาคตจะมีน้ำเพื่อการเกษตรไม่ขัดสนอย่างแน่นอน
ในส่วนของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับแม่น้ำยมจึงได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยม ซึ่งในอนาคตเมื่อสร้างเสร็จเกษตรกรลุ่มน้ำยมจะได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรอย่างแน่นอน ในส่วนของการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้กรมฝนหลวงก็ได้ขึ้นบินทำฝนเทียมทุกวัน แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ฝนตกที่จุดใด แต่ก็ทำให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่อยากฝากถึงเกษตรกรมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีไม่มากนัก อีกทั้งฤดูกาลหรือหน้าฝนก็จะมีฝนตกชุกในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 ดังนั้นจึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและข้างเคียงต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ภาพ/ข่าว สิทธิพจน์ พิจิตร