เสาร์. พ.ย. 2nd, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

บทความกฎหมายที่ควรทราบ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ เปล่งขำ พฤษภาคม ๒๕๖๑

1 min read

วันเวลาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายปีผ่านไปนี้ระหว่างบุญกับบาป เราทำอะไรไว้มากกว่ากัน อดีตผ่านไปแล้ว ไม่หวลคืนมาอีก อย่าจมปรักอยู่กับอดีต เพราะนอกจากจะแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นเรื่องเลวร้าย จะทำให้เรายิ่งทุกข์ใจขึ้นไปอีก คนที่ทำร้าย คิดร้ายต่อเรา ก็ปล่อยเขาไป ให้อภัยเขา ให้อยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ เราจะสบายใจ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเก็บมาคิด จองเวร พยาบาท อาฆาต ทำให้จิตเราไม่สงบ จิตเศร้าหมอง เป็นทุกข์ จิตมีโทสะ พระท่านว่าเมื่อถึงเวลาตาย จิตที่คิดแต่โทสะ ย่อมไปเกิดในนรก มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน คนส่วนใหญ่กลัวความตาย แต่ไม่กลัวการเกิด

กฎหมายที่ควรทราบสำหรับฉบับนี้ ขอเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากมีกฎหมายออกมาใหม่ ได้แก่ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๖๑ นับว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่ทุกคนควรจะรับทราบ ในกฎหมายฉบับนี้ การที่จะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้นั้นจะต้องอยู่บนหลักการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ดำเนินการไต่สวนตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว ส่วนคำว่าไต่สวนนั้น หมายความว่า การแสวงหา รวบรวม และการดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กฎหมายฉบับนี้ได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” โดยใช้คำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”หมายความว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นหรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหรือหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น

เรื่องที่จะเข้าสู่คณะกรรมการป.ป.ช.มาได้สองทางคือการไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการส่งเรื่องตรงไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เวลานี้ มีกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช มาใหม่ ทุกเรื่องต้องไปที่ ป.ป.ช แถมมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่ ป.ป.ช ไต่สวนไว้ในมาตรา 50 วรรคห้า ความว่า ในกรณีคณะกรรมการ ปปช รับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะเหตุขาดอายุความ อันเนื่องมาแต่มิได้ปฎิบัติตามระยะเวลาตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม คือต้องไต่สวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องไม่เกินสองปี นับแต่วันเริ่มไต่สวน แต่ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่เรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช สั่งยุติการดำเนิน คดีอาญา และหากการขาดอายุความดังกล่าวเกิดจากความผิด หรือการจงใจปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อของผู้ใด ให้คณะกรรมการ ปปช ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นโดยเร็ว นี่คือสาเหตุที่ ป.ป.ช ส่งสำนวนมาให้ พนักงานสอบสวน ดำเนินการพนักงานสอบสวน จะรับสำนวนจาก ป.ป.ช ไว้ดำเนินการจะต้องเข้าเกณฑ์ตาม มาตรา 61 วรรคสอง คือกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานภายใน 30 วัน แล้วส่งเรื่องไป ป.ป.ช และคณะกรรมการ ป.ป.ช พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง เห็นสมควรมอบหมายให้พนักงานสอบสวน เป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวน ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน

ในมาตรานี้ มีสาระสำคัญสองประการ คือ ป.ป.ช จะต้องส่งเรื่องคืนภายใน 30 วัน และเรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง นอกจากนี้จะมอบให้พนักงานสอบสวนทำมิได้ และกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช ไปกำหนดเองตามอำเภอใจว่าเรื่องใดร้ายแรง เรื่องใดไม่ร้ายแรง คงต้องดูกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่เคยกำหนดไว้แล้วว่าเรื่องใดร้ายแรง เรื่องใดไม่ร้ายแรง ในชั้นนี้เห็นได้ว่าเรื่องไม่ร้ายแรง จะเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงจะพิจารณา หรือตาม พ.ร.บ ป้องกันปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พศ 2556 ม 3 ความว่า ความผิดร้ายแรงหมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น

นอกจากนี้ ใน ม 63 คณะกรรมการ ป.ป.ช เห็นสมควรอาจส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้ จึงเห็นได้ว่าพนักงานสอบสวนตำรวจ จะมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการจะต้องเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงเท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนบุคคลที่กำหนดไว้ในกฎหมายในเรื่อง ร่ำรวยผิดปกติ หมายความว่าการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย คำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” นั้น ศาลฎีกาแผนกคตีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อม.๑/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๔๖ ได้วางแนวทางการพิจารณาคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ว่ามีความหมายได้เป็น ๔ กรณี คือ (๑) การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ (๒) การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ (๓) การมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ (๔) การได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีทรัพย์สินมากผิดปกติ โดยที่มิได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการเลย ก็อยู่ในความหมายคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” และในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะไต่สวนและชี้มูล เพื่อให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ ในการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินและหนี้สิน การเคลื่อนไหวทางการเงิน หรือการทำธุรกรรมของบุคคลนั้น และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมาประกอบการวินิจฉัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนแล้ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะถึงแก่ความตาย ก็ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่จะดำเนินการตรวจสอบต่อไปแต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายที่สำคัญคือเมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติแล้วให้ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่พิสูจน์หรือแสดงที่มาของรายได้หรือทรัพย์สินของตน และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐานและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไปในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากความร่ำรวยผิดปกติ

นอกจากนี้กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช.แจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วินิจฉัยเพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ และในกฎหมาย พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ.๒๕๖๑ นี้มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากกฎหมายฉบับก่อน ๆ คือ เมื่อถูกไต่สวนและชี้มูลเรื่องรำรวยผิดปกติแล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง มีอำนาจสั่งไล่ออกหรือดำเนินการถอดถอนได้โดยไม่ต้องสอบสวนหรือของมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคล อาจจะมีความสงสัยขึ้นมาว่าถ้าไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่เลย เช่น ร่ำรวยมาเพื่อเล่นการพนัน หรือทำการค้าส่วนตัว และใช้เวลานานจนจำลูกค้าไม่ได้ มีความร่ำรวยขึ้น ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ จะทำอย่างไร และกฎหมายมีบทสันนิษฐานอีกว่าถ้าร่ำรวยผิดปกติให้ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่และมีกฎหมายกำหนดให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งไล่ผู้นั้นออกจากราชการเสียอีก ซึ่งกฎหมายเก่ายังให้ทางเลือกได้สองทางคือปลดออกหรือไล่ออก แต่กฎหมายที่ออกมาใหม่นี้ มีทางเดียวคือไล่ออก ภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์นี้ตกไปที่ศาลเพราะกฎหมายกำหนดว่าในกรณีที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลให้ยกคำร้องขอด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหาและถ้าผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกไล่ออกหรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้น

จากตำแหน่งแล้วแต่กรณี สั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกหรือถอดถอนโดยเร็ว และผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดที่พึงได้รับ ถ้ามิได้ถูกไล่ออกหรือถอดถอน ทั้งนี้ ตามระเบียบบริหารงานบุคคลหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ.๒๕๖๑ ในการไต่สวนเรื่อง “ร่ำยวยผิดปกติ” นี้ แตกต่างไปจากกฎหมายเดิม ตามกฎหมายเก่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีหน้าที่และอำนาจไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่ำรวยผิดปกติ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. แต่ตามกฎหมายใหม่นี้ กฎหมายได้กำหนดไว้ในมาตรา ๒๘ (๒) ประการเดียว คือไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ดังนั้น ความาร่ำรวยผิดปกติของเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีความผิดทางอาญาพ่วงมาด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่มีอายุสั้น เพราะอกุศลกรรมที่เป็นปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่ได้กระทำแล้วในอดีตเข้าไปเบียดเบียนตัดรอน จึงทำให้มีอายุสั้นหรือที่รู้กันว่าตายก่อนวัยอันควร ในทางตรงกันข้ามผู้ที่เกิดมาแล้ว มีอายุยืน ก็ย่อมเป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นการงดเว้นจากปาณาติบาต และยังสร้างกุศลกรรมด้วยการให้ชีวิตสัตว์มีคุณ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย ปลา ฯลฯ ถ้าเราไม่อยากให้โรคภัยเบียดเบียน ก็จะสะสมแต่กุศลกรรม เว้นการจากฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ และให้ชีวิตพวกเราอยู่ในโลกนี้พร้อมเราอย่างมีความสุขการให้ทานนั้น จะนำความสุขมาให้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะยากดีมีจนเพียงใด ก็ต้องรู้จักการเสียสละ ให้ทานแก่ผู้มีกำลังมีทุกข์หรือเดือดร้อน ทานที่ให้ได้แก่วัตถุทาน ธรรมทาน และอภัยทาน ทานหลายอย่างที่ให้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์สินอะไรเลย เช่น การนำพระธรรมคือคำสอนของตถาคตไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง เป็นธรรมทาน เขาจะได้มีดวงตาเห็นธรรม คนที่ดีมีพื้นฐานสะสมบุญมาแล้ว จะพลอยยินดี อิ่บเอิบใจ อยากฟัง แต่คนบาป จิตใจสะสมอกุศลกรรมไว้มาก ได้ฟังพระธรรมคำสอนของตถาคตแล้ว จะอึดอัด ไม่พอใจ เดือดร้อน รำคาญ เพราะไม่ตรงกับจริตของตน เมื่อพบคนเช่นนี้ ก็ต้องปล่อยเขาไปตามกรรม ผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังสุขภาพไม่แข็งแรง เป็นเหตุเพราะกฎแห่งกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ทั้งกรรมในปัจจุบัน เช่นไม่รักษาสุขภาพ รับประทานสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เป็นอันตรายต่อร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย กระทำการฆ่าสัตว์เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น เป็นการกระทำทั้งในปัจจุบันและอดีต ทำให้ประสบเคราะห์กรรมเจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย บางคนเป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่ยังเด็กก็มี บางคนอายุสั้น ล้วนแต่เป็นเศษของกรรมจากการทำปานาติบาต ทางที่ควรทำในปัจจุบันนี้ก็คือการให้ชีวิตสัตว์เหล่านั้น ไม่ฆ่าเขา ช่วยเขาให้พ้นจากการถูกฆ่า เป็นต้น ถ้าไม่สะสมกุศลกรรมเช่นนี้เลย กรรมแต่อดีตที่เคยเบียดเบียนพวกเขามาก่อน จะทำให้ท่านเจ็บป่วย มีความทุกขเวทนา

การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วยได้แก่ ๑. ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย) ๒. ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย) ๓. ให้มหรสพ คือการบันเทิงทุกรูปแบบ ทำให้เกิดนันทิ คือความเพลินใจ ๔. ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาวๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วยเป็นต้น ๕. ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)

การให้ของทั้งห้าประการนี้ ควรเว้น เพราะเป็นอกุศลกรรม นำบาป นำทุกข์มาให้
ท้ายที่สุดนี้ สมาคมส่งเสริมคุณธรรมเพื่อช่วยเหลือตำรวจและประชาชน มีกิจกรรมที่สำคัญด้วยการให้ความรู้เป็นวิทยาทาน เป็นการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานของพวกเราที่ต้องการมีอนาคต รักความก้าวหน้า เพื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณธรรม เป็นที่พึ่งของพ่อแม่ เป็นคนดีของสังคมประเทศชาติ ด้วยการให้มารับความรู้จากทีมวิทยากรที่ทรงคุณภาพ อาทิ อาจารย์อมรวรรณ ปิ่นมณี อาจารย์ นริศรา คำทอง ให้ความรู้ด้านคุณธรรม ศีลธรรม ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา ฯลฯ ในวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ผู้ที่สนใจจะส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษได้ที่สมาคม ส่งเสริมคุณธรรมฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ สมาคมส่งเสริมคุณธรรมฯ ได้จัดอุปกรณ์เครื่องมือป้องกันโรคโควิด ไปมอบให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๑ ไว้ให้ตำรวจใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นกิจกรรมของสมาคมที่ดำเนินการมา และจะทำต่อไป ตำรวจท่านใดสนใจจะเตรียมตัวสอบเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ก็ติดต่อสมาคมส่งเสริมคุณธรรมฯ ได้

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.