Cranioplasty ความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
1 min read
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทประจำโรงพยาบาลราชวิถี ได้นำเสนอข้อมูล เรื่องความก้าวหน้าในการประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ในทางการแพทย์ ในการรักษาคนไข้ ในกรณีที่คนไข้ต้องได้รับการผ่าตัดปิดกะโหลกศีรษะ แต่เดิมคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุที่กะโหลกศีรษะจนเกิดความเสียหายจนต้องนำกะโหลกศีรษะออก ผลข้างเคียงที่ตามมาเมื่อผ่าตัดปิดกะโหลกศีรษะเสร็จคือกะโหลกศีรษะของคนไข้จะมีการแหว่งหรือผิดรูปไปจากเดิม
เนื่องจากในปัจจุบันการปั้นชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะเทียมนั้นยังใช้วิธีการขึ้นรูปด้วยมือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานขึ้นรูปชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะเทียมด้วยมือส่วนใหญ่คือไม่สามารถทำออกมาได้เหมือนของจริงที่ขาดหายไป ซึ่งหลังการผ่าตัดมักจะทำให้เกิดปัญหาศีรษะของข้างไม่เท่ากัน หรือใบหน้าเบี้ยวผิดรูป รวมไปถึงการมีปัญหาแทรกซ้อนเช่น การเจ็บแผล หรือแผลฉีกขาด จากปัญหาดังกล่าวได้มีการทดลองนำเทคโนโลยี เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ที่ทำงานร่วมกับซอฟแวร์ (software) มาประยุกต์ใช้ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ หรืออวัยวะส่วนที่ขาดหายไปแทนการปั้นด้วยมือ โดยการใช้ซอฟต์แวร์พิเศษช่วยจำลองข้างที่ปกติมาใช้เป็นต้นแบบของชิ้นส่วนข้างที่ขาดหายไป วิธีนี้เป็นการประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อใช้ในร่างกายของคนจริงๆ
ขั้นแรกจะทำการเอกซเรย์สมองของคนไข้เพื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมดของกะโหลกศีรษะทั้งส่วนที่ยังมีอยู่และส่วนที่ขาดหายไป และใช้ซอฟต์แวร์พิเศษในการจำลองสร้างกะโหลกศีรษะส่วนที่ขาดหายไปขึ้นมาใหม่ หลังจากได้ภาพจำลองและทำการขึ้นรูปชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะที่ขาดหายไปผ่านซอฟต์แวร์แล้ว จึงนำข้อมูลเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์ออกมาเป็นชิ้นงานแม่แบบ ที่จะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการทำชิ้นส่วนกระโหลกจริงขั้นสุดท้ายในห้องผ่าตัด ดังนั้นผลที่ได้จากวิธีการดังกล่าวจะทำให้แพทย์ได้ชิ้นส่วนกะโหลกที่มีรอยหยัก รอยบุ๋ม ความหนา ความบางเหมือนของจริงดั้งเดิมที่ขาดหายไปทุกประการ มีผลทำให้หลังผ่าตัดคนไข้มีใบหน้าที่มีความสมมาตร สวยงามเหมือนจริง สามารถลดปัญหาสภาวะแทรกซ้อน และสร้างความพึงพอใจต่อคนไข้เป็นอย่างสูง และสามารถย่นระยะเวลาในการผ่าตัดได้
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ยังได้กล่าวอีกว่า เชื่อว่าในอนาคตการประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ในทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกเรื่อยๆ โดยได้มีการวางแผนว่าจะประยุกต์ใช้วัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงทนทาน เช่น ไทเทเนียม (Titanium) เพื่อเสริมความทนทานในการทำชิ้นส่วนอวัยวะอื่น ๆ ของมนุษย์ต่อไป