อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

สุรินทร์ ไล่โควิด-19 พิธีกรรมโบราณของชาวเขมร ปะโจลมะม๊วด ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

1 min read

วันที่ (15 ม.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา ณ พื้นที่ใจกลางหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 บ้านภูมิโพธิ์ ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ทามกลางสถานการณ์ที่หลายๆพื้นที่ได้มีโรคโควิด-19 ระบาดกัน แต่ในชุมชนได้มีชาวบ้านกว่า 50 คนทั้งคนเฒ่าคนแก่ เด็กเล็กเด็กน้อย คนหนุ่มคนสาว มาร่วมพิธีกรรมของชาวเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ ที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ปะ – โจล – มะ- ม๊วด” หรือรำผีฟ้า หรือ แม่มด ตามพิธีกรรมความเชื่อของชุมชนแห่งนี้ที่เชื่อว่าการเล่นมะม๊วดเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนด้วยเสียงเพลง โดยมีแม่หมอหรือแม่มดจะเข้าทรงเพื่ออัญเชิญเทพธิดาสิ่งศักดิ์เพื่อเสี่ยงทายดูอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น ร่วมทั้งการเล่นมะม๊วดยังสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคร้ายและเพื่ออัญเชิญเจ้าที่เจ้าทางในหมู่บ้านให้ปกปักรักษาให้ลูกหลานในชุมชนแคล้วคลาดปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีนั้นในช่วงกลางวันชาวบ้านได้พากันเตรียมสถานที่โดยการทำตะซาล (เป็นภาษาท้องถิ่นสุรินทร์อ่านว่าตะ-ซาล แปลว่าโรงเรือนสำหรับประกอบพิธี) สำหรับการทำตะซาลนั้นได้มีการเอาเสาไม้ที่มีง่ามจำนวน 9 ต้น แล้วเอาไม้พาดเป็นขื่อบนง่าม หลังจากนั้นจะใช้ทางมะพร้าวสดผ่าเป็น2 ซีกมุงหลังคา โดยบางชุมชนนิยมกางเต็นท์เป็นโรงประกอบพิธีเพราะสะดวกกว่าการทำตะซาลอย่างมาก มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บูชาวางไว้บนโต๊ะเป็นแถวยาวด้านหัวโรง(ซึ่งจะกำหนดทิศด้านใดด้านหนึ่งเป็นหัวโรง ขึ้นอยู่กับแม่หมอนั้นๆเป็นคนกำหนด) โดยร่างทรงแต่ละคนจะมีเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเรียงไว้ในถาดของใครของมันเครื่องเซ่นไหว้หลักๆจะประกอบด้วยผลไม้ ขนม ข้าวตอก ก่อนเริ่มพิธีนักดนตรีจะโหมโรงด้วยเพลงดนตรีเป็นจังหวะทำนองดนตรีพื้นบ้านสุรินทร์ เครื่องดนตรีจะมี 4 ชิ้นประกอบด้วย แคน กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ ได้บรรเลงเพลงจังหวะท่วงทำนองที่ฟังแล้วเพราะจับใจ โดยมีการร้องรำเป็นจังหวะสลับกับการรำของแม่มดแต่ละคน บางห่วงจังหวะการละเล่นได้มีแม่หมอ หรือแม่มด ประกอบพิธีเข้าทรงเพื่อดูทางในสลับกันไป โดยแต่ละคนจะมีขันคนละ 1 ใบ ข้างในจะใส่ข้าวสารไว้เกือบเต็มขันแล้วจุดธูปปักตรงขอบขัน พอดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงแม่มดก็บูชาครูไหว้ครู เสร็จก็นั่งทางในสักครู่ก่อนที่จะอัญเชิญร่างทรงโดยการหมุนเวียนขันที่มีเทียนจุดอยู่วนๆรอบจากช้าๆไปจนถึงเร็ว จะกี่รอบนั้นขึ้นอยู่ว่าร่างทรงจะมาประทับตอนนั้น จะสังเกตุได้ตอนที่แม่มดกระแทกขันกับพื้นจนเทียนดับและข้าวสารกระเด็นกระดอนออกจากขันนั่นเอง

นางเพียบ ซ่อนจันทร์ อายุ 70 ปี แม่หมอหรือแม่มด ชาวบ้านตาพราม ม.8 ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ตามที่ได้มีโรคระบาดอยู่ในทุกวันนี้ การเล่นมะม๊วดเพื่อขจัดปัดเป่าโรคร้ายก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งของชุมชนเช่นกัน โดยสามารถเล่นได้ทุกโอกาส สำหรับพิธีกรรม“ปะ–โจ๊ล – มะ-ม๊วด” เป็นภาษาพื้นบ้านสุรินทร์ เป็นคำเฉพาะ ซึ่งมะม๊วดหรือแม่มด หมายถึง การเข้าทรง หรือที่เรารู้จกกันดีว่า “รำผีฟ้า” มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมนี้มีมานานแล้ว ชาวเขมรสุรินทร์รับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมา จากรุ่นสู่รุ่น และปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยจัดพิธีนี้ขึ้นเนื่องในโอกาสต่างๆ “แม่หมอเล่าต่อว่า” การเล่นมะม๊วด เป็นการเล่นเฉพาะกาลตามความเชื่อของชุมชนนั้นๆ เพื่อแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ และเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำผ่านล่าม หรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และหาทางรักษาตามความเชื่อชาวไทยเชื้อสายสุรินทร์ มีความเชื่อในเรื่องผีปู่ตา นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการเล่นมะม๊วด ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรี ที่สืบสานกันมานาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายสุรินทร์ เป็นพิธีกรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติ

ภาพ/ข่าว ธนโชติ เจนจัด จ.สุรินทร์

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.