โครงการเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพลลดความเสี่ยงลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้งรุนแรงต่อเนื่อง!!
1 min readในรอบ 10 ปีมานี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำปิงที่ มีต้นกำเนิดมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านจังหวัดลำพูน และเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ในจังหวัดตาก มีน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่าแม่น้ำปิงที่ไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำลดลงประมาณ 10-20 % ซึ่งส่งผลกระทบกับความมั่นคงของลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างอย่างชัดเจน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำบริเวณต้นแม่น้ำปิงที่เพิ่มสูงขึ้น
“แม่น้ำปิง มีต้นน้ำอยู่ในเขตเชียงใหม่ทางภาคเหนือลงมานะครับ วันนี้เราเกิดโครงการชลประทานหลายโครงการ เช่น แม่งัด แม่กวง แม่แตง และมีการใช้น้ำจากพื้นที่ที่อยู่เหนือเขื่อนภูมิพลที่อาจจะเป็นต้นน้ำของเขื่อนหลายโครงการด้วย มีการปลูกลำไย มีการทำนาข้างบนค่อนข้างสูง และจะเกิดอะไรขึ้น ก็คือ น้ำที่ไหลเข้ามาในเขื่อนลดลงครับ เพราะฉะนั้นพอข้างบนใช้เยอะน้ำในเขื่อนน้อย คนที่จะใช้ประโยชน์จากเขื่อนภูมิพลก็ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นเดียวกันครับ” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ปีนี้เป็นอีกปีที่มีความเสี่ยงภัยแล้งรุนแรง เขื่อนภูมิพลจึงงดการส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังอีกครั้ง เพราะขณะนี้มีน้ำใช้การได้ไม่ถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้ เพราะภัยแล้งเกิดขึ้นต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว กรมชลประทานจึงริเริ่มโครงการผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปเติมเขื่อนภูมิพลในฤดูฝน เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มากขึ้น หลังจากวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,633 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยจะการผันน้ำจากแม่น้ำยวมในฤดูฝนเฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้าน ลบ.ม.มาเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล
รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า เขื่อนภูมิพลจำเป็นที่จะต้องเพิ่มต้นทุนน้ำให้มากขึ้น เพราะหลายปีที่ผ่านมาศักยภาพของเขื่อนภูมิพลที่มีน้ำสำรองไว้ใช้ได้ น้อยลงกว่าที่คนทั่วไปทราบมากและน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ประเทศไทยมีโอกาสประสบภัยแล้งมากกว่าน้ำท่วม ปีที่น้ำมากที่น้ำจะเข้าเต็มเขื่อนมีน้อยกว่าปีที่น้ำน้อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาน้ำต้นทุนมาเพิ่มให้กับเขื่อนภูมิพล
ส่วน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ปริมาณน้ำที่จะเติมให้กับเขื่อนภูมิพลจากการผันน้ำมาจากแม่น้ำยวมนี้ มีปริมาณมากเท่ากับน้ำเต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ถึงหนึ่งเขื่อนครึ่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งได้ เพราะเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาขาดน้ำ จะทำให้น้ำเค็มรุกสูงมาถึงจุดสูบน้ำของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคหลายพื้นที่ จนทำให้น้ำประปาทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำประปาเค็มในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งภัยแล้งยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงมองว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือในการรับมือกับภัยแล้งในอนาคตได้อย่างดี
ภาพ/ข่าว กำพลศิลป์ วงษ์เดือน ข่าวจังหวัดนนทบุรี