ชายแดนเมียนมา ครอบครัวชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไปร่วมชุมนุมที่จังหวัดเมียวดี
1 min readเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก การชุมนุมประท้วงในการต่อต้านคณะรัฐประหาร ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มินอ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสุงสุด และคณะ ยังคงดำเนินการชุมนุมไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากคณะรัฐประหาร แต่การชุมนุมประท้วง ของชาวเมียนมาจากหลากหลายอาชีพที่มีประชาชน ข้าราชการ นักศึกษา นักเรียนที่จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด ยังเพิ่มมากขึ้น นับ 50,000 คน ในการชุมนุมประท้วง โดยแห่ไปรอบๆเมืองเมียวดี ร้องเสียงกระหื่มกึกก้องเพื่อ ขับไล่พลเอกอาวุโส มินอ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสุงสุดออก และเรียกร้องให้ปล่อยนางอ่องซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี.) และนายอูวินมินต์ ประธานาธิบดี รวมทั้งนักการเมืองทุกคน ขณะที่หญิงชาวเมียนมา วัย กว่า 40 ปี ในจังหวัดเมียวดีคนหนึ่งบอกกับสื่อมวลชนว่า ไม่เคยสนใจการเมืองมาตลอดชีวิต แต่ที่มาชุมนุมครั้งนี้ เพราะทนไม่ได้กับความไม่ยุติธรรม ที่มาเพียงแค่ร้องขอให้ทหารปล่อยตัวนางอ่องซาน ซูจี เท่านั้น หากปล่อยแล้วตนไม่สนการเมืองจะกลับไปทำงานตามปกติ
ล่าสุด มีราษฎรเมียนมา เชื้อสายกะเหรี่ยง ในพื้นที่เขตอิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยงทุกฝ่าย เช่นกลุ่มบีจีเอฟ.หรือ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู.) และมวลชน ชนกลุ่มน้อยอื่นๆเข้าไปร่วมการชุมนุมด้วย ทำให้ผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น