โรงงานน้ำตาลพิมาย เร่งแก้ปัญหาฝุ่น น้ำเน่าเสีย ผุดโครงการ “แลกที่ตารางวา ต่อ ตารางวา” สร้างบ้านให้อยู่ใหม่ (มีคลิป)
1 min readโรงงานน้ำตาลพิมาย เร่งแก้ปัญหาฝุ่น น้ำเน่าเสีย หลังอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ประชุมพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบกิจการ ให้เร่งปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนและผุดโครงการ “แลกที่ตารางวา ต่อ ตารางวา” สร้างบ้านให้อยู่ใหม่
จากกรณี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร้องเรียนกิจการโรงงานน้ำตาล บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สร้างปัญหาฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศ และปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงแหล่งน้ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่
และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ประชุมพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบกิจการ ให้เร่งปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน
ล่าสุด นายอนุรักษ์ สุขประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าของปัญหาในครั้งนี้ว่า เรื่องปัญหาน้ำเน่าเสียงที่เกิดจากโรงงาน ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย เบื้องต้นได้ทำการปิดกั้นและให้คนเฝ้าระวังไม่ให้น้ำร่วงไหลออกไปอีก พร้อมเร่งให้แก้ไขสร้างเป็นบ็อคคอนกรีตเสริมซีเมนต์ ตามคำแนะนำของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) ส่วนน้ำที่เน่าเสียจะนำเข้ามาสู่ระบบบำบัดแก้ไขต่อไป ด้านเรื่องปัญหาฝุ่นละอองที่ว่าเกินค่ามาตรฐานนั้น โรงงานมีการตรวจวัดค่าเป็นประจำ แต่ช่วงนี้มีการก่อสร้างทำถนนบริเวณหน้าโรงงาน จึงทำให้เกิดฝุ่นกระจายไปทั่ว ทางเราได้มีการนำรถบริการออกฉีดน้ำเพื่อลดการกระจายของฝุ่นให้กับประชาชนด้วย
ด้าน นายอนุศาสตร์ แซ่ไล่ รองผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด เปิดเผยว่า ควันสีขาวที่ถูกปล่อยออกมา อาจสร้างความแตกตื่นให้กับผู้พบเห็น แต่ความจริงแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงน้ำที่โดนความร้อนจากการสกัดกากชานอ้อยไม่ให้ลอยออกมาข้างนอก ซึ่งเมื่อน้ำโดนความร้อนจึงเกิดเป็นไอน้ำลอยออกมา และจะระเหยไปตามธรรมชาติ โดยเรายึดมั่นว่า โรงงานอยู่ได้ ชาวบ้านก็ต้องอยู่ได้ เพราะเราต้องอยู่ร่วมกัน
นอกจากนี้ ทางโรงงานได้ชี้แจ้ง ถึงกรณีที่ทางโรงงานจะทำการขยายพื้นที่โรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ โรงงานในระยะ 50 เมตร โดยทางโรงงานได้เปิดโครงการ “แลกที่ตารางวา ต่อ ตารางวา” สร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ โดยประชาชนสามารถเลือกวัสดุก่อสร้างและสีของบ้านได้เอง ซึ่งสร้างความพอใจให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยในเฟรซแรกจะสร้างทั้ง 5 หลัง อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ห่างจากบ้านหลังเดิมไม่ถึง 1 กิโลเมตร