สุรินทร์ ในหลวงฯพระราชทานถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุสามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2564
1 min readสุรินทร์ ในหลวงฯพระราชทานถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุสามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2564 ที่ วัดศาลาลอย พระอารามหลวง
วันที่ 8 มีนาคม 2564 ที่พระอุโบสถ์ วัดศาลาลอย พระอารามหลวง ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุ สามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีและ กรรมการกำกับห้องสอบ สนามหลวง วัดศาลาลอย พระอารามหลวง โดยมีพระธรรมโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานถวายภัตตาหารและสิ่งของพระราชทานแด่ประธานสงฆ์ และพระภิกษุ และสามเณร ผู้เข้าสอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุสามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง และ กรรมการกำกับห้องสอบในระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2564 โดยมีสนามสอบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 102 แห่ง รวม 28,224 รูป ตามที่ สำนักงานแม่กองบาลี สนามหลวงได้ประกาศเรื่อง การสอบบาลีสนามหลวง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้กำหนดการสอบบาลีสนามหลวง ครั้งที่ 1 ชั้นประโยค 1-2 และชั้นประโยค ป.ธ. 3,4,5 ในวันที่ 8-9-10 มีนาคม 2564 ในสนามสอบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ สอบพร้อมกัน สำหรับจังหวัดสุรินทร์ แม่กองบาลี สนามหลวง กำหนดให้วัดศาลาลอย พระอาหามหลวง เป็นสนามทดสอบบาลีสนามหลวง มีพระภิกษุสามเณรเข้าสอบจำนวน 517 รูป
สำหรับการสอบสนามหลวง คือการสอบไล่วัดความรู้พระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย โดยคำว่า “สนามหลวง” นั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “การสอบพระปริยัติธรรมบาลีในพระราชวังหลวง” โดยการสอบสนามหลวงในสมัยก่อนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงรับเป็นพระราชภาระ ถวายความอุปถัมภ์การจัดสอบขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยจัดสอบแบบปากเปล่า คือพระภิกษุหรือสามเณรผู้ศึกษาบาลีมีความรู้พอสมควรแล้ว เข้าสอบบาลีสนามหลวงโดยการแปลคัมภีร์ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หรือแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลี ต่อหน้าพระที่นั่งและคณะกรรมการพระเถรานุเถระ โดยผู้สอบไล่ได้ในชั้นประโยคต่างๆ จะได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ พัดยศ ไตรจีวร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้ให้เป็นเปรียญ และรับนิตยภัตของหลวง เป็นการยกย่องเชิดชู