ตราด สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทยยันท่องเที่ยวแบบเจ็ตสกีไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ได้กระจายรายได้สู่ชุมชน
1 min readเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 นายวิชิต สุกระสูยานนท์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด เปิดเผยถึงการจัดโครงการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเจ็ตสกีสู่เกาะช้างว่า หลังนำสมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทยจำนวน 100 คน เจ็ตสกี 50 ลำ เดินทางมาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวแล้ว
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 พบว่าการท่องแบบเจ็ตสกีที่สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราดจัดขึ้น มีการวางแผนการเดินทางที่ไม่ให้เกิดผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยใช้เส้นทางห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 ไมล์ทะเล ก่อนจะนำเจ็ตสกีเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวที่กำหนดไว้อย่างมีระเบียบ และจอดเจ็ตสกีชายหาด เข้าที่พักในโรงแรมที่สำรองที่พักไว้ หลังจากนั้นการจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะใช้รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์เช่าเหมาในการเดินทางท่องเที่ยวบนเกาะช้าง ซึ่งก็ถืออว่าเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆบนเกาะช้าง ซึ่งทริปท่องเที่ยวด้วยเจ็ตสกีในครั้งนี้เข้าพักที่โรงแรมเมอร์เคียว ต.เกะช้างใต้อ.เกาะช้าง ก่อนจะแล่นเจ็ตสกีไปท่องเที่ยวเกาะหมาก และกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่เมจิครีสอร์ท ชายหาดบ้านมาบค้างคาว ม.4 ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด ก่อนเดินทางกลับอำเภอท่าใหม่ จ.จันทบุรีในช่วงบ่ายวันที่ 7 มีนาคม
นายวิชิต บอกว่า การสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเจ็ตสกีได้รับผลตอบรับจากชุมชน เพราะมีการประชุม ประชาคมชาวบ้านที่จะนำเจ็ตสกีเข้าท่องเที่ยวเพราะสิ่งที่ชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับก็คือ การกระจายรายได้สู่ชุมชน และธุรกิจการท่องเที่ยว ส่วนเรื่องผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนนั้นไม่มี เพราะเจ็ตสกี กลุ่มท่องเที่ยวเจ็ตสกี ใช้เจ็ตสกีแค่การเดินทางมาแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่มีการนำเจ็ตสกีไปแล่นผาดโผนตามชายหาด และจะนำเจ็ตสกีออกเมื่อต้องเดินทางเปลี่ยนสถานที่พักเท่านั้น และจะต้องจัดระเบียบในการเดินทาง มีเส้นทางที่แน่ชัด ไม่มีการนำเจ็ตสกีไปขับเล่นกันเองตามลำพัง อีกทั้งเจ็ตสกีรุ่นใหม่ ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องเสียง และคราบน้ำมัน และการนำเจ็ตสกีเข้ามาเกาะช้างจะต้องมีการขออนุญาตจากจังหวัดตราดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า และกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดระเบียบการเดินทางอย่างชัดเจนดังกล่าว
นายไพศาล อนุตรานุศร ผจก.ฝ่ายขายสยามวอเตอร์คลาสซีดู นายธนยศ (วิรัตน์) สินถาวร ผู้ควบคุมการเดินทางด้วยเจ็ตสกี สมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เจ็ตสกีไม่กระทบสิ่งแวดล้อม 100% เพราะไม่ใช้ใบพัด ใช้พลังลมพุ่งออกจากท้ายเจ็ตสกี และกินน้ำตื้น ไม่กระทบ กระแทกกับโขดหินและแนวปะการัง ไม่มีคราบน้ำมันไหลลงทะเล ไม่ปล่อยน้ำเสียลงทะเลแบบเรือที่ใช้เครื่องยนต์ทั้งดีเซลและเบนซิน ส่วนการนำเจ็ตสกีแล่นในทะเล จะต้องมีการกำหนดเส้นทาง และอยู่ห่างชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล ก่อนจะค่อยๆแล่นอย่างเป็นระเบียบเข้าชายหาดที่เป็นที่พักเท่านั้น การท่องเที่ยวแบบเจ็ตสกี ไม่มีการออกเที่ยวแบบกระจัดกระจาย จะไปเป็นหมู่คณะ มีผู้ควบคุมนำเที่ยว มีระเบียบวินัยในการเที่ยว จึงมองไม่เห็นว่า เจ็ตสกี จะกระทบการท่องเทีย่วหรือแหล่งท่องเที่ยวตรงไหน ซึ่งผู้ใช้เจ็ตสกีทุกคนจะต้องมีใบนายท้ายจากกรมเจ้าท่า จึงจะสามารถขับเจ็ตสกีได้ กลุ่มท่องเที่ยวเจ็ตสกี จึงเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและชุมชนมากกว่า
นายชัยวัฒน์ อ่อระหุ่ง ผจก.ทั่วไป โรงแรมเมอร์เคียว เกาะช้างใต้ บอกว่า การท่องเที่ยวเกาะช้าง ประสบปัญหาจากไวรัสโควิด 19 นอกจากจะเงียบเหงาไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่พัก รีสอร์ท การค้าขายต่างพากันปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก เพราะเกาะช้างส่วนใหญ่ได้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนกันนานเป็นเดือนๆ ช่วงนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จึงต้องอาศัยนักท่องเที่ยวชาวไทยในการเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะช้าง ถึงแม้จะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก็ดีกว่าให้ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องเงียบเหงา หยุดชะงัก เพราะผู้ประกอบการล้วนต้องมีรายจ่ายในการทำธุรกิจท่องเที่ยว นายชัยวัฒน์บอกต่อว่า กลุ่มเจ็ตสกี เดินทางมาท่องเที่ยว จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสีสันการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้น จึงต้องการให้ชุมชนต่างๆให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบเจ็ตสกี ที่เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเกาะช้างต่อไป
ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด