เครือข่ายครูโคราชร่วมกับสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษา 4 อำเภอ ส่งหนังสือให้ชะลอร่างพรบ.การศึกษา แห่งชาติ ฉบับผ่านกฤษฎีกาพร้อมเสนอข้อแก้ไขปรับปรุง 9 ประเด็น
1 min readเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. เครือข่ายครูโคราชและสมาคมครูผู้บริหารสถานศึกษา 4 อำเภอได้แก่อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรีอำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียวได้เข้าพบ นาย วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอปัญหาของร่าง.พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเนื่องจากร่างดังกล่าวไม่รับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนและองค์กรวิชาชีพครู บทบัญญัติและสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาของไทยหายไปจากร่าง จนเกิดกระแสไม่เห็นด้วยของครูและบุคลากรทางการศึกษาตลอดจนประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เครือข่ายครูโคราชสมาคมครูและผู้บริหารสถานศึกษา 4 อำเภอ มีมติร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ขบวนการของรัฐสภาและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอ 9 ข้อดังนี้
1.ให้ครูเป็นวิชาชีพทางการศึกษาและเป็นวิชาชีพชั้นสูง
2.ให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล
3.ให้มีการจัดระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีองค์กรหลัก ที่เป็นคณะบุคคลในรูปคณะกรรมการที่เป็นเอกภาพและสามารถบูรณาการได้
4.เพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษาและหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น กรรมการในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ให้เหมาะสม
5.ให้มีการกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เทียบเท่าสากล ให้สามารถดำรงชีวิต เป็นพลเมืองและพลโลกที่มีคุณภาพ
6.ให้มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ครอบคลุมการจัดการศึกษา ให้กับปวงชนชาวไทยตั้งแต่แรกเกิดปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และ การศึกษาขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นพลเมืองไทยและพลโลกที่มีคุณภาพมีทักษะการทำงานที่สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาต่อ
7.ให้มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการจัดการอาชีวศึกษา ที่เน้นการปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ มีกลไกการบริหารจัดการเพื่อสร้างความเป็นเลิศนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงานอย่างมีคุณภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
8.ให้มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา ที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีอิสระ มีความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่วิชาชีพ ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรอบด้าน
9.ให้มีบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติโดยให้มีบทบัญญัติในการตรากฎหมาย ดังนี้ กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การจัดการศึกษาสำหรับคนพิเศษและอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและครอบคลุมทุกรูปแบบและทุกระบบ ทุกระดับการศึกษาของชาติ
อนึ่งเวลา 11.00 น.คณะทั้งหมดได้เข้ายื่นหนังสือต่อท่านวุฒิสมาชิก นายออนกาจ กระโทก
นายสามารถ ยุระชัย ข่าวภาพ / อำนาจ อภัยภักดี รายงาน