อุดรฯปิดรพ.สนาม ส่งนักรบชุดขาวไปช่วย รพ.บุษราคัม
1 min readวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์โอบอุ้ม ดูแล ห่วงใยอุดรธานี หรือโรงพยาบาลสนาม หอหัก มหาวิทยาลัยราชภัฏ อุดรธานี สามพร้าว นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางส่งผู้ป่วยเฝ้าดูอาการหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ชุดสุดท้าย 4 คน เดินทางกลับไปกักตัว เฝ้าดูอาการกักตัวที่บ้านอีก 14 วัน และ ปิดทำการศูนย์โอบอุ้มฯ และร่วมมอบดอกไม้ส่งบุคลลากรทางการแพทย์ ไปปฏิบัติภาระกิจที่ รพ.บุษราคัม เมืองทองธานี โดยมี ผศ.จรูญ ถาวรจักษ์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.)อุดรธานี นำคณาจารย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกิจกรรม
นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า ศูนย์โอบอุ้มฯแห่งนี้เป็นอาคารหอพัก 4 ชั้น 281 ห้อง ของ มรภ.อุดรธานี สามพร้าว ใช้เป็นสถานที่รับไว้ ดูแลรักษา สังเกตอาการ เพื่อป้องกัน ยับยั้ง การแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชม. เริ่มเปิดรับผู้ป่วยมาตั้งแต่ 21 เม.ย.64 มีผู้ติดเชื้อย้ายมาที่นี่ 108 ราย ย้ายกลับไปที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี 4 ราย และรักษาหายกลับบ้าน 104 ราย ปัจจุบันอุดรธานีสามารถป้องกันควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วย 4 รายสุดท้ายเดินทางกลับบ้านในวันนี้ และยังไม่มีผู้ป่วยมาเพิ่ม จึงทำการปิดศูนย์โอบอุ้มฯไว้ก่อน ขณะที่ บุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ที่นี่ จะเดินทางไปที่สนับสนุน รพ.บุษราคัม อิมแพคเมืองทองธานี
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ศูนย์โอบอุ้ม ดูแล ห่วงใยอุดรธานี เกิดจากความร่วมมือหลายฝ่ายมาก ตั้งแต่เจ้าของสถานที่ มรภ.อุดรธานี เราเตรียมที่นี่ตั้งแต่สถานการณ์ปกติ เมื่อจำเป็นต้องใช้งาน ขอบคุณทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน เพราะจากตัวเลขผู้ป่วยวันละ 20 คน จนสูงสุดวันละ 29 คน จำเป็นต้องระบายผู้ป่วยออกมา ตลอดเวลาเกือบ 1 เดือน ตนเองไม่ได้มาที่นี่เพียง 3-4 วันเท่านั้น ได้เห็นบุคลากรทำหน้าที่ และความร่วมมือกันตลอด 24 ชม. การไฟฟ้าส่งคนมาเฝ้ากลัวไฟดับ ท้องถิ่นส่งคนมาดูแลสุนัข-แมว เอกชนนำเครือข่ายสื่อสารมาเพิ่มสนับสนุน
ความจริงอุดรธานีเตรียม รพ.สนามไว้ทั้งภาคเอกชน และในทุกอำเภอรวมกว่า 4,000 เตียง แต่ก็ไม่ได้แจ้งเกรงจะตื่นกลัว เพราะเราเป็นเมืองศูนย์กลาง มีโครงสร้างพื้นฐานที่จังหวัดข้างเคียงต้องผ่าน แต่เราเองต้องมีความพร้อม แต่ด้วยความร่วมมือจากประชาชน มาตรการต่าง ๆที่ออกมาใช้ ทำให้จำนวนผู้ป่วยและติดเชื้อลดลง มีจำนวนต่ำกว่า 10 คนติดต่อกัน 16 วัน วันนี้โรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลชุมชนมีความพร้อม ศูนย์โอบอุ้มฯ จึงปิดตัวเองไปก่อน แต่ก็พร้อมกลับมาเปิดอีก หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยแพทย์-พยาบาลทีมนี้ ก็จะไปช่วยที่ รพ.บุษราคัม ”
นพ.สุมน ตั้งสุนทรวิวัฒน์ รอง ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี เปิดเผยว่า บุคลากรที่จะเดินทางไปปฏิบัติภาระกิจ โรงพยาบาล(สนาม)บุษราคัม ชุดแรกประกอบไปด้วย แพทย์ 2 ท่าน พยาบาล 10 ท่าน และเภสัชกร 1 ท่าน โดยครึ่งหนึ่งเคยไปปฏิบัติภาระกิจ รพ.สนามที่ จ.สมุทรสาคร และมาปฏิบัติหน้าที่ รพ.สนามอุดรธานี อีกครึ่งเป็นบุคลากรที่ รพ.สนามอุดรธานี มีตนเองเป็นหัวหน้าทีมนำไป ทำหน้าที่ระวห่าง 17 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ จากนั้นได้เตรียมชุดที่ 2 เดินทางไปสับเปลี่ยน ทุกคนยินดีเดินทางไปทำหน้าที่ ในพื้นที่มีการระบาดรุนแรง
น.ส.ดวงสุดา อภิวัฒน์ดำรงกิจ เภสัชกร ร.พ.ศูนย์อุดรธานี เปิดเผยว่า เคยไปปฏิบัติภาระกิจ รพ.สนาม จ.สมุทรสาคร ช่วงเดือนมกราคม เป็นระยะครึ่งเดือน และมาปฏิบัติหน้าที่ รพ.อุดรธานี เกือบ 1 เดือน รู้สึกดีใจที่ได้มาทำงานนี้ เพื่อดูแลผู้ป่วย แล้ววันนี้ก็จะเดินทางไป รพ.บุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ในการดูแลผู้ป่วยในโซนสีเขียว และสีเหลือง ความรู้สึกส่วนตัวแล้วไม่กลัว เพราะเราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เรารู้วิธีการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี และไม่ประมาท
ที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับผู้ป่วย ให้กำลังใจเขาและให้ความรู้ของโรค ว่าโรคนั้นเป็นเช่นไร วิธีป้องกันตนเองควรทำเช่นไร จะทำให้ผู้ป่วยจะไม่ต้องกังวล และสบายใจกับโรคนั้น ตั้งแต่ไปดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม ไม่เคยติดเชื้อเลย เพราะตนจะดูแลสุขภาพร่างกายทุกวัน ในการออกกำลังกาย แต่พักผ่อนน้อยเท่านั้นเอง สาเหตุที่ตนไปปฏิบัติหน้าต่อ ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อยากไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย ในตรงนั้นเพราะได้ผ่านประสบการณ์มาแล้ว ”
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นำมอบดอกกุหลาบแดง ให้กับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร , ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ โดยการเดินขึ้นรถตู้เพื่อเดินทาง นายสยาม ฯ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ไปเปิดประตูให้เดินขึ้น และปิดประตูรถให้ด้วยตัวเองทั้ง 2 คัน ท่านกลางเสียงปรบมือทั้งผู้ที่เดินทาง และผู้ที่ไปส่งดังกล่าว
ภาพ/ข่าว นายกฤษดา จันทร์ดวง ผุ้สื่อข่าว จ.อุดรธานี