“รองแป๊ะ” รอง.ผวจ.ตาก ชี้ เมืองตากพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่
1 min read“รองแป๊ะ” รอง.ผวจ.ตาก ชี้ เมืองตากพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ ขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจ หลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ติดตามสถานการณ์ Covid-19 และพิจารณาเพิ่ม รพ.สนาม
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่านายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ ครั้งที่ 35/2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 และพิจารณาโรงพยาบาลสนามเพิ่ม รวมถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมทีลอซู ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตาก
โดยมี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ นายวรานนท์ ยิ้มมงคล และนายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และนายวิบูลย์ จุติคีรีสวรรค์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดตาก เข้าร่วมประชุม ขณะที่คณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference
และที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดตาก ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 25 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ (1 เม.ย.-12 ก.ค. 64) จำนวน 1,779 ราย ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 1,285 ราย เสียชีวิตสะสมระลอกใหม่ 8 ราย โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่พบในพื้นที่อำเภอแม่สอด จำนวน 14 ราย ขณะที่อำเภอพบพระ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย อำเภอเมืองตาก 2 ราย และที่อำเภอวังเจ้า 2 ราย
จากนั้น ได้รับทราบข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ได้แก่ การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ การห้ามออกนอกเคหสถาน การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลที่ได้รับการยกเว้น การกำหนดกรณียกเว้นเพิ่มเติม มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล การขนส่งสาธารณะ การเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการควบคุมโควิด-19 ตามประกาศฉบับที่ 27 ซึ่งจังหวัดตากเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) โดยมีสาระสำคัญแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ข้อ 8 การขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารฯ ทั้งนี้ การลดหรือจำกัดรอบการให้บริการอาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรตามปกติในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. และข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
จากนั้น ได้พิจารณาการขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่มีใบอนุญาตทำงานประเภทคนรับใช้ จำนวน 1 ราย จากพื้นที่อำเภอแม่สอด ไปยัง กทม. ด้วยเหตุผลจำเป็น พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19
สำหรับโรงพยาบาลสนาม ได้มีการพิจารณาจัดตั้งโรงพยายาลสนามเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จังหวัดตาก มีด้วยกัน 4 รูปแบบ ได้แก่ โรงพยาบาลสนามองค์กร Factory Isolation Community Isolation และ Home Isolation มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ทั้งสิ้น 1,490 เตียง ใช้ไป 1,082 เตียง คงเหลือ 408 เตียง จึงมีการพิจารณาปรับ Community Isolation ทุกแห่งให้เป็นโรงพยาบาลสนามไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยหากมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนสถานที่กักกันประเภท State Quarantine (SQ) ด้วย
ส่วนมาตรการในการขนส่งสินค้าข้ามแดนฯ ซึ่งสมาคมขนส่งสินค้าจังหวัดตาก ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถบรรทุกขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดตาก ได้รับทราบมาตรการของทางราชการ และพร้อมรับผิดชอบค่าใช้ง่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในราคาที่เหมาะสม และได้ขอให้ทางภาครัฐดำเนินการจัดหาพื้นที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบริเวณพื้นที่สะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อให้พนักงานขับรถที่เดินทางมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวก และขอให้เจ้าหน้าที่ออกหลักฐานการผ่านการตรวจ หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจหาเชื้อและชำระค่าบริการแล้ว เพื่อใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดผ่านแดน โดยในเบื้องต้นขออนุโลม ไม่ต้องรอผลของการตรวจก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบการขนส่งสินค้าข้ามแดน
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึง “โครงการรับคนตากกลับบ้าน-คนตากไม่ทิ้งกันว่า” ว่ามียอดผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก(มทร.ล้านนาตาก) มียอดยกมา 19 คน( เป็นชาย 13 เป็นหญิง 6 ) ล่าสุดรับใหม่ 6 คน ( ชาย 3 หญิง 3 ) มาจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) 6 คน(ชาย 3 หญิง 3) โดยสรุป ยอดผู้ป่วยทั้งหมด 25 คน เป็นชาย 16 คน และเป็นหญิง 9 คน (กลับมาจากต่างจังหวัด (โครงการคนตากไม่ทิ้งกัน อ.เมืองตาก 2 คน อ.แม่สอด 1 คน อ.พบพระ 1 คน,ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อ.แม่สอด 3 คน อ.พบพระ 6 คน อ.วังเจ้า 1 คนพนักงานขับรถข้ามแดน ชายแดนไทย-เมียนมา-แม่สอด 1 คน และลักลอบเข้าเมือง 7 คน อื่นๆ 2 คน)
พร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ ขอให้พี่น้องประชาชน ได้มั่นใจ พร้อมให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัย โทรประสาน “ศูนย์คนตากไม่ทิ้งกันจังหวัดตาก” หมายเลขโทรศัพท์ โทร 061-0240676 (ในเวลาราชการ) และหาก นอกเวลาราชการ โทร061-0240677 #ตากชนะ # SAVETAK นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รอง ผวจ.ตาก กล่าว