พัทลุงเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 รองรับคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่ ล่าสุดมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19แล้ว 700 เตียง
1 min readผู้สื่อข่าว จ.พัทลุง รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.พัทลุงมีแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการตรวจเชิงรุกตามอำเภอต่างๆที่ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อของคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พบว่าจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการรายใหม่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 จำนวน 924 ราย ได้ผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 57 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อดังกล่าวนี้เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง 5 ราย อ.กงหรา 26 ราย อ.เขาชัยสน 10 ราย อ.ป่าบอน 4 ราย อ.ตะโหมด 3 ราย อ.ศรีนครินทร์ 3 ราย อ.บางแก้ว 1 ราย และรอผลการตรวจอีก 72 ราย และตอนเย็นวันนี้จะมีการนำพนักงานของโรงงานเชือดไก่ที่กำลังกักเก็บตัวในโรงงานฯเข้าไปรักษาในรพ.สนามแห่งที่ 1 อีกไม่น้อยกว่า 50 ราย
อย่างไรก็ตามในเวลาประมาณ 14.30 น.วันที่ 22 ที่โรงแรมวังโนราอ.เมืองพัทลุง ซึ่งใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง และคณะ ได้ร่วมกันรับเตียงกระดาษและชุดเครื่องนอนจำนวน 100 ชุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ SCG บริษัท สยามราชธานี และมูลนิธิรัชกิจประการ-มนตรี เป็นเบื้องต้น เพื่อที่จะได้มาดำเนินการในการจัดสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดพัทลุง หลังจากนี้ทางเครือข่ายทั้ง 3 องค์กร จะได้ประสานอุปกรณ์เตียงกระดาษพร้อมชุดเครื่องนอนเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลสนามดังกล่าวต่อไป
ทางด้านนายกู้เกียรติฯ ผวจ.พัทลุง เผยว่า ในขณะนี้จังหวัดพัทลุงมีจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกรุเทพฯและปริมณฑล ประมาณ 400 คน โดยส่วนใหญ่มาจากคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่ ในส่วนของการรักษาในระบบสาธารณสุขนั้นสามารถดูแลผู้ป่วยได้ 250 ราย สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ณ สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.ควนขนุน จำนวน 270 เตียงนั้นเกือบเต็มแล้ว ทางจังหวัดฯจึงต้องมาเปิดโรงพยาบาลสนาม ณ ศูนย์ประชุมโรงแรมวังโนรา เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 โดยสามารถรองรับผู้ป่วยทั้งชั้นบนและล่างรวม 200 เตียง ทำให้ขณะนี้จังหวัดพัทลุงมีเตียงในระบบสาธารณสุข และเตียงโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง รวม 700 เตียง ในส่วนของจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 ทางจังหวัดฯก็กำลังจัดเตรียมไว้แล้วเช่นกัน สำหรับการตั้งด่านที่เชื่อมต่อกับอำเภอต่างๆของจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มนั้นมีการตั้งด่านดังกล่าว 4 จุด คือ อ.ปากพะยูน 2 จุด อ.ป่าบอน 1 จุด และ อ.ควนขนุน 1 จุด โดยจะตั้งด่านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่ผ่านด่านทั้ง 4 ด่านนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาการวางระเบียบและกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติ
ในขณะเดียวกันในเวลาประมาณ 15.00 น.วันที่ 22 ที่บริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง หอการค้าจังหวัดพัทลุง นำโดย นางสาวพสุกานต์ ลาภานุพัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุงและคณะกรรมการหอการค้าฯ พร้อมด้วย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดพัทลุง (YEC) ได้นำมอบข้าวสาร 1,200 กิโลกรัม น้ำดื่ม จำนวน 4,800 ขวดและไข่ไก่ 1,200 ฟอง มามอบให้กับผู้ประสบภัยจากโรคระบาดโควิด-19 ผ่านทางสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
นางสาวพสุกานต์ฯ กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงควรออกมาตรการเร่งด่วน ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้มากขึ้น โดยการเพิ่มจุดบริการตรวจหาเชื้อฟรีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อให้แยกผู้ป่วย ออกจากกลุ่มทั่วไปให้ได้โดยเร็ว หากไม่เริ่มทำอย่างเร็ว แล้วต้องใช้มาตรการ Lockdown เชื่อว่าไม่ส่งผลดีอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจในจังหวัดอย่างแน่นอน เพราะขนาดยัง ไม่มีการ Lockdown ประชาชนในจังหวัดยังประสบปัญหาว่างงานมากขึ้น และรายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นความเดือดร้อนในวงกว้างและอาจเป็นภาระที่ภาคราชการต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในอนาคต และต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิดในละรอกนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและบริการต่างๆเป็นอย่างมาก