ตาก เดินหน้าขุดเจาะอุโมงค์ เส้นทาง Tollway และรถไฟ สายตาก-แม่สอด นายกนครแม่สอดขอบคุณ “บิ๊กตู่” และรัฐบาล ผลักดันโครงการ
1 min readเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ดร.ฝอ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) ว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้มีหนังสือ แจ้งมายังเทศบาลนครแม่สอด ใน เรื่องการพิจารณาให้การสนับสนุนและผลักดันการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด)ในการขุดเจาะอุโมงค์และเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายตาก-แม่สอด รวมทั้งโครงการรถไฟ ทางคู่เส้นทาง นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ซึ่งทางสภาพัฒน์แจ้งว่าปัจจุบันได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดเข้ามาดำเนินการแล้ว และโครงการ ขุดเจาะอุโมงค์ และการสร้างทางหลวง เส้นทางพิเศษระหว่างเมืองสายตาก-แม่สอด กรมทางหลวง (เส้นทาง Tollway โทลเวย์ ) กำลังทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ของการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟรางคู่เที่ยวถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก แนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor–EWEC). ภายใต้แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขง 6 ประเทศ (GMS)
ตาก-แม่สอด-มุกดาหาร-นครพนม นั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเสนองบประมาณประจำปี 2563 เพื่อออกแบบรายละเอียดโดยใช้เวลาออกแบบซึ่งอีกประมาณ 1 ปี จะแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการดังกล่าวในนามของประชาชนในจังหวัดตาก ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ให้ความสนใจและติดตามสั่งการเรื่องนี้อย่างใก้ลชิดมาโดยตลอด เพื่อให้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา คืบหน้า อย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวแจ้งว่า รัฐบาล ได้มอบหมายให้ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้า โครงการก่อสร้างเส้นทางพิเศษระหว่างเมือง (เส้นทาง Tollway โทลเวย์ ) สายตาก-แม่สอด (ทางด่วนพิเศษตาก-แม่สอด) เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเดินทางระหว่างช่วงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังตัวเมืองจังหวัดตาก จำเป็นต้องอาศัยทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด เป็นเส้นทางคมนาคมหลักเพียงเส้นทางเดียว แม้ว่ากรมทางหลวงจะได้รับงบประมาณในการก่อสร้างขยายเส้นทางนี้ให้เป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร แต่แนวเส้นทางยังมีข้อจำกัดด้านกายภาพที่เป็นอุปสรรคสำคัญ โดยมีลักษณะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวและมีความลาดชันสูง เนื่องจากภูมิประเทศเป็นลักษณะภูเขาทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าปริมาณมาก ทำให้รัฐบาลได้ให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษาการขุดเจาะอุโมงค์ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายตาก-แม่สอด) เพื่อย่นระยะทาง ลดทางโค้งให้เกิดความปลอดภัยในการสัญจร
ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต และเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างอำเภอแม่สอดไปยังตัวเมืองจังหวัดตาก ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กรมทางหลวง จึงได้บรรจุให้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายตาก-แม่สอด เป็นหนึ่งในโครงข่ายสายทางตามแผนแม่บทการพัฒนา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ปี 2560-2579 โดยเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสามารถเป็นตัวชี้นำการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเมืองศูนย์กลางภาคเหนือ จังหวัดตาก และสหภาพเมียนมาร์ โดยจะส่งผลให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีความเจริญรุดหน้า สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่