รรท.ผวจ.ตาก ร่วมประชุมกับผู้แทนทางการเมียนมา เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of ldentity : CI) และนำแรงงานสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานตาม MOU
1 min readเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก พล.ต.ต.ปกปภพ บดีพิทักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก ที่ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ. สังเวียน อินตากูล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก (เป็นผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดตาก) นายวสันต์ ปาลาศ จัดหางานจังหวัดตาก ผู้แทน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)จังหวัดตาก และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนทางการเมียนมา เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานที่ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of ldentity : CI ) และนำแรงงานสัญชาติเมียนมาเข้ามาทำงานตาม MOU ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียรอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ที่ห้องประชุมสายประทีป ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตาก
ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส Covid-19. ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลกในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย โดยในช่วงที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมหารือร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีกระบวนการจ้างแรงงานที่เหมาะสม ซึ่งวันนี้ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าใน 2 ประเด็น ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สถานที่ตั้ง เลขที่ 32/8 ถนนเศรษฐกิจ 1 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร , จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ตั้ง ตลาดทิพย์นิมิตรบางพลี อาคาร B ชั้น 2 เลขที่ 176 หมู่ 8 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี , จังหวัดชลบุรี สถานที่ตั้ง ตลาดสยามนินจา ถนนทางหลวงชนบท ชบ. 3023 ตำบลหนองหงษ์ อำเภอพานทอง (รอยืนยัน) , จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ตั้ง ร้านอาหารครัวปลาทอง เลขที่ 138 หมู่ 4 ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ (รอยืนยัน) และที่จังหวัดระนอง สถานที่ตั้ง เลขที่ 89/286 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
สำหรับในอีกประเด็นสำคัญ ได้แก่ การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของCovid-19 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานเมียนมาได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายจ้างและสถานประกอบการยังคงมีกำลังแรงงานในการดำเนินธุรกิจ อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของทั้ง 2 ประเทศ ต่อไป