สตูล ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล และคณะกรรมการศูนย์บริหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
1 min readสตูล ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล และคณะกรรมการศูนย์บริหาสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในพื้นที่
วันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล จังหวัดสตูล ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสตูล และคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จังหวัดสตูล โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการโรคติดต่อฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมและร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom
สำหรับการประชุมดังกล่าวเพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดสตูล ทั้ง 7 อำเภอ ซึ่งขณะนี้ยังมีการระบาดในหลายพื้นที่ และจังหวัดสตูลยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่ระลอกเมษายน 2564 รวมจำนวน 5,715 ราย และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า เป็นการติดเชื้อแบบครอบครัว หรือมีกิจกรรมร่วมกัน ทำงานในสถานที่เดียวกัน และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องเกือบทุกวัน จึงได้เน้นย้ำทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ได้โดยเร็วและครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด อีกทั้งขณะนี้จังหวัดสตูลมีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วราว 51 เปอร์เซ็นต์ โดยตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้เกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ดังนั้นได้มีการเน้นย้ำกับทางอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เชิงรุกฉีดวัคซีนแบบเคาะประตูบ้านในแต่ละชุมชน เพื่อป้องกันอาการหนักหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อ COVID-19 ได้
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ การจัดระบบกักตัวหรือแยกกักที่มีคุณภาพ ซึ่งในวันนี้ได้มีการอนุมัติเปิด CI แต่ละอำเภอ เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่กลางในการรองรับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยทางอำเภอต้องพิจารณาให้ผู้ป่วย เข้า HI หรือ CI ตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก เรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ใช้นโยบายควบคุมจำนวนคนให้น้อยลง พร้อมกับประเมินพื้นที่และประเมินความจำเป็นในการจัดกิจกรรม รวมทั้งกำชับให้ทุกส่วนราชการ monitor การให้ความช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมทุกช่องทาง ส่วนในเรื่องการเปิดภาคเรียนแบบ On-site ได้เน้นย้ำในเรื่องของความพร้อมเตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับกรณีมีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนและผู้ปกครอง และให้ดำเนินการภายใต้มาตรการที่สาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ภาพ/ข่าว นิตยา แสงมณี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล