ศรีสะเกษ นายอำเภอศิลาลาดเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day)”
1 min readเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์เครือข่ายบ้านตาด่าง-โนนสูง หมู่ที่ 5 ตำบลโจดม่วง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ นายกองตรี ไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด ได้เป็นประธานเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่(Field day)” โดยมีนายมหินทร เทพิน เกษตรอำเภอศิลาลาด หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีฐานถ่ายทอดความรู้ จำนวน 5 ฐาน ประกอบด้วยฐานที่ 1 การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ฐานที่ 2 การจัดการดินปุย และการตรวจวิเคราะห์ดิน ฐานที่ 3 การบริหารจัดการศัตรูพืชชุมชน ฐานที่ 4 ด้านประมง และฐานที่ 5 การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญา ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้บริการและช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตของเกษตรกร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และเชื่อมโยงตลาด ส่งเสริมเกษตรกรและพัฒนาราคาสินค้าเกษตรในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นายกองตรี ไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นในทุกอำเภอทั่วประเทศ รวม 882 ศูนย์ ซึ่งเป็นศูนย์ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักในพื้นที่และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบแปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ สำหรับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หน่วยงานราชการส่งเสริมร่วมกับภูมิปัญญาของเกษตรกร และประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ในการเริ่มต้นปีการเพาะปลูกใหม่ ให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเอง ทำให้เพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี สำนักงานเกษตรอำเภอศิลาลาด จึงได้จัดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี มีเป้าหมาย 2 ระดับ คือ การทำให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ และนำข้อมูลไปใช้และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความรู้ที่ได้รับ
ดังนั้น ผู้ถ่ายทอดความรู้จึงต้องพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการ วิธีการและกลไกการถ่ายทอดความรู้ และช่วงเหมาะสมในการถ่ายทอด เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายควรพิจารณาว่เกษตรกรต้องมีความรู้อะไรบ้าง อีกทั้งในตลาดโลกมีการแข่งขันด้านราคาสินค้าเกษตรที่รุนแรง รวมถึงกลไกการค้า ที่มุ่งเน้นคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิตที่ต้นทางและปลายทาง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้ในการปรับตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ได้แก่การบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ การเพาะปลูกตามความเหมาะสมของดิน และการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด การลดต้นทุนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป การเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินของตน และการลดการพึ่งพากลไกราคาด้วยการทำไร่นาสวนผสม สำนักงานเกษตรอำเภอศิลาลาด จึงได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสู่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ซึ่งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกร โดยการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสินค้าหลักและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และที่สำคัญเกษตรจะต้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำการเกษตรทฤษฎีใหม่มายึดถือปฏิบัติและขยายผล ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป
ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ