นครปฐม รับมอบผ้าต้นแบบอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี”
1 min readเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม รับมอบผ้าต้นแบบอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” จากนางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด พร้อมคณะ เป็นตัวแทนส่งมอบผ้าต้นแบบทอลายมัดหมี่จำนวน 2 ผืน และทอลายจก จำนวน 2 ผืน ให้แก่จังหวัดนครปฐม เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้สวมใส่ผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐมอย่างกว้างขวาง โดยมีนางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ความเป็นมาของผ้าลายอัตลักษณ์จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครปฐม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีฯ
จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ได้รับทราบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยสามารถจำหน่ายและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยจังหวัดนครปฐมรณงค์ให้ข้าราชการ
บุคลากรในหน่วยงานสวมใส่ผ้าไทยทุกวันพุธและวันศุกร์ ยกเว้นในวันที่มีการแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 ลาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์
จากท้องถิ่นสู่สากล” ตลอดจนได้มีการส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยจังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนา “อัตลักษณ์ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครปฐม” ซึ่งได้มีการระดมความคิดการออกแบบลายผ้าจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว ประธานหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อาจารย์กฤติยา แก้วสะอาด อาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ประภากร สุคนธมณี อาจารย์ภาควิชาประยุกต์ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้มีการระดมความคิดเห็น ค้นหาและพัฒนาผ้าที่สามารถนำมาเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม และเพื่อประกอบการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” จากที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติคัดเลือกลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี) อันหมายถึงจังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณธัญญาหาร มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 จังหวัดนครปฐมได้ออกประกาศให้ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี”เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
สำหรับการทำให้ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับผลิตผ้าต้นแบบเป็นเงินจำนวน 28,500 บาท (สองหมื่นแปดพันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยได้มีการใช้เทคนิคการผลิตผ้า จำนวน 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 เทคนิคการมัดหมี่ ผ้าฝ้ายพื้นสีคราม ลายสีขาว ขนาด 90 x 200 เซนติเมตร โดยนายกมนพรรน์บ่อแก้ว ผู้นำกลุ่มผ้าทอมือศรีอุทุมพร ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
แบบที่ 2 เทคนิคการจก ผ้าฝ้ายพื้นสีฟ้าจกด้วยไหม ขนาด 35 x 90 เซนติเมตร โดยนายวรุฒม์ มั่นพรม ผู้นำกลุ่มวงเดือน ผ้าจกไท – ยวน ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า มีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งรู้สึกมีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดนครปฐมของเรามีผ้าลาย อัตลักษณ์ประจำจังหวัด ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” ชื่ออาจจะเรียกยากสักนิด แต่มีความหมายที่บ่งบอกถึงจังหวัดนครปฐม เป็นอย่างดี ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
สืบเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งการออกแบบเพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับแต่ละท้องถิ่น โดยพระราชทานลายผ้าแก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัด ได้นำไปเป็นต้นแบบและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของแต่ละชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
จังหวัดนครปฐมได้นำลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐมมาออกแบบร่วมกับลายผ้าพระราชทาน ในวันนี้จักได้นำเสนอใน 2 รูปแบบ คือ 1. แบบมัดหมี่ และ 2. แบบจก ซึ่งย้อมสีธรรมชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม ได้แก่ สีจากใบส้มโอ และสีจากเปลือกมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีสีอื่น ๆ ให้เลือกตามความต้องการของลูกค้า
ขณะนี้จังหวัดนครปฐมอยู่ในระหว่างการออกแบบผ้ามัดหมี่ลายสร้างสรรค์ วิถีชีวิตชนบทไทย โดยมีแนวคิดจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของประชาชนจังหวัดนครปฐม ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ “แม่น้ำท่าจีน” หรือ “แม่น้ำนครชัยศรี” ที่หล่อเลี้ยงผู้คน สร้างความสะดวกในการคมนาคม ทำให้เกิดอาชีพและประเพณีต่าง ๆ มากมาย ในผืนผ้าจะมีองค์ประกอบ สายน้ำ แม่ค้าพายเรือขายของ ขายผักผลไม้ ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าว ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด ในส่วนของกิจกรรมทางบกแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ เช่น ต้นมะพร้าวน้ำหอมสามพราน (GI) การทำสวนกล้วยไม้ (แหล่งผลิตอันดับ 1 ของประเทศ) การทำนาบัว (กับเรื่องเล่าคลองมหาสวัสดิ์ คลองขุดในรัชสมัยของรัชกาล ที่ 4) เป็นต้น
จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้สนับสนุนผ้าทอมือลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม และผ้าลายประยุกต์ จากผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชการ และประชาชนได้สวมใส่ผ้าทอลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม ตลอดจนส่งเสริมอาชีพการทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดนครปฐม และพัฒนา สนับสนุนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนฐานรากได้มีอาชีพและรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสืบสาน รักษา พัฒนา และต่อยอด การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนให้คงอยู่ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทอผ้า และประชาชนในจังหวัดนครปฐมอย่างยั่งยืนต่อไป
ภาพ/ข่าว ปนิทัศน์ มามีสุข / นส.ปณิดา มามีสุข จ.นครปฐม