อังคาร. พ.ย. 26th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

ทต.เกาะช้างใต้วางซั้งทางมะพร้าวชายฝั่ง เป็นบ้านปลาเพิ่มสัตว์น้ำอ่าวสลักเพชร

1 min read


วันที่ 9 ก.ค.65 นายอภัยภูมิ ศิลประสาร รองนายกเทศมนตรี ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด และเป็นที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ต.เกาะช้างใต้ เผยว่า นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายกเทศมนตรี ต.เกาะช้างใต้ ได้มอบหมายให้ตนเอง พร้อมด้วย นายมานพ สังขหัต ที่ปรึกษานายกฯ,นายมานพ พึ่งภักดิ์ ประธานสภาเทศบาล ต.เกาะช้างใต้,นายฐิติพงศ์ ศรีบุญจิตร รองประธานสภาฯ,สมาชิกสภาฯจำนวนหนึ่ง,ผู้นำชุมชน,เจ้าหน้าที่อุทยานฯเกาะช้าง,พนักงานเทศบาล ต.เกาะช้างใต้ และกลุ่มอนุรักษ์ฯในพื้นที่ ต.เกาะช้างใต้ร่วมมือกัน ใช้เรือประมงพื้นบ้าน และเรือของอุทยานฯเกาะช้าง นำซั้งที่ทำจากทางมะพร้าว ไปวางหรือปักลงในทะเลแนวชายฝั่ง ใกล้ๆกับเกาะทรายขาว (เกาะพร้าวนอก) บริเวณในอ่าวสลักเพชร

เพื่อเป็นบ้านปลาในทะเลจำนวนกว่า 40 ซุ้ม/กอ ในโอกาสที่จัดกิจกรรมในโครงการ บวชป่า ปลูกป่า สืบชะตาสายน้ำ ต.เกาะช้างใต้ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2565 โดยยึดรูปแบบตามภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมสมัยโบราณ วัสดุที่ใช้ทำซั้งหาได้จากตามธรรมชาติ ต้นทุนต่ำ ด้วยการนำทางมะพร้าว มาตัดให้ได้ขนาดใช้เชือกในล่อนมัดทางมะพร้าวติดกับไม้ไผ่ขนาดความยาวประมาณ 7-8 เมตร โดยจะเลือกบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลลึกราว 4-5 เมตร เพื่อให้ไม้ไผ่ที่มัดติดกับซั้งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำประมาณ 2-3 เมตร ระยะห่างจากแนวชายฝั่ง 15-20 เมตรไม่กีดขวางทางเดินเรือ จะมีการปักซั้งที่มีไม้ไผ่เป็นเสาหลักลงไปในทะเลเป็นกลุ่มๆแล้วใช้เชือกมัดรวมกัน เป้าหมายก็คือสำหรับเป็นบ้านปลาในทะเลช่วงฤดูฝน
ซึ่งเป็นฤดูการวางไข่ของปลาหลายชนิดได้เข้ามาอาศัยหลบซ่อนตัว เพื่อขยายพันธุ์ภายในซั้งทางมะพร้าว สำหรับซั้งที่ทำจากทางมะพร้าวดังกล่าวจะสามารถอยู่ในทะเลได้ราว 6-7 เดือน ถ้าหากคลื่นทะเลในย่านนั้นๆไม่รุนแรงมาก



ทั้งนี้ จุดที่นำซั้งทางมะพร้าวไปวางหรือปักลงในทะเล จะเลือกบริเวณที่ไม่มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านๆมา ทางเทศบาล ต.เกาะช้างใต้ ได้ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง-ผู้นำชุมชน-อุทยานฯเกาะช้าง-กลุ่มอนุรักษ์ฯ และชาวประมงพื้นบ้าน จะร่วมมือกันจัดทำซั้งจากทางมะพร้าวแล้วนำไปวางในทะเล เพื่อเป็นบ้านปลาในทะเลอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี มีปลาหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก เกิดประโยชน์กับชาวประมงพื้นบ้าน

ภาพ/ข่าว วรโชติ เกาะช้าง-วิเชียร ม่วงสี ทีมข่าวภูมิภาค /รายงาน

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.