อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

ร้อยเอ็ด สืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวมธุปายาส

1 min read

วัดนิคมคณาราม อำเภอโพนทองร่วมสืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ หรือ ข้าวมธุปายาส ในพุทธกาลถือว่าเป็นภัตตาหารที่ได้มีส่วนทำให้พระองค์ได้สำเร็จและตรัสรู้อริยสัจ 4

อำเภอโพนทองร่วมกับเทศบาลตำบลโพนทองพร้อมชาวบ้าน14 ชุมชนร่วมสืบสานประเพณี ที่ วัดนิคมคณาราม. ตั้งอยู่ที่หมู่ ๔ ตำบลแวง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า “กวนข้าวทิพย์” ปฎิบัติมานานหลายปีแล้ว โดยจะทำเป็นประจำทุกๆ ปีในวันก่อนออกพรรษาแล้วจะนำ ไปถวายพระในวันออกพรรษา

เวลา ๐๖.๐๐น. วันที่ ๘ ต.ค.๒๕๖๕ พิธีกวนข้าวทิพย์ เริ่มต้นด้วยพิธีตั้งบายศรีบวงสรวงเทพยดา พิธีพรามห์ จากนั้นประกอบพิธีสงฆ์มีพระครูสุวรรณโพธาภิบาล (วิทัย อคฺคปญฺโญ) เจ้าคณะอำเภอโพนทอง ประธานฝ่ายสงฆ์พระครูนิคมคณานุกูล(เจ้าอาวาส) พร้อมพระภิกษุสวดชุมนุมเทวดา ตามด้วยคาถาสวดที่เป็นมงคลของพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์

ว่าที่ร้อยตรีอานพ ศรีบุญลือ นายอำเภอโพนทองประธานฝ่ายฆราวาส นายบุรชาติ สวัสดีพละ นายกเทศมนตรีตำบลโพนทอง. นำถาดใส่อาหารมีข้าว ไข่ ขนมต้มแดง-ต้มขาว และผลไม้ โดยการนำเอาข้าวที่ยังเป็นน้ำนม (ข้าวที่เพิ่งออกรวงใหม่ ที่เมล็ดยังเป็นแป้ง นำมาเอาเปลือกออก ชาวบ้านเรียก-ข้าวเหม่า) สิ่งของเครื่องปรุงข้าวทิพย์ คือมงคล 9 สิ่ง ได้แก่ นม เนย ถั่ว งา น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง และผลไม้ต่างๆที่เตรียมไว้ในตอนกลางคืน ใส่ร่วมกันลงไปกะทะตั้งไฟให้เดือดแล้วเริ่มพิธีกวนข้าวทิพย์ แล้วกวนให้ข้าวสุกจนเหนียวใช้เวลาประมาณ ๙ ชั่วโมง การกวนข้าวทิพย์นี้จะต้องใช้สาวพรหมจารี นุ่งขาวห่มขาวอย่างน้อย 4 คน เป็นผู้กวน ทายก ทายิกา จะช่วยกันปั้นข้าวทิพย์เป็นก้อนๆ ถวายแด่พระภิกษุภายในวัด และจัดแบ่งไปถวายพระภิกษุตามวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ที่เหลือแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้น เพื่อเป็นการให้ทาน

มูลเหตุความเชื่อ ประเพณีกวนข้าวทิพย์ จากพระครูนิคมคณานุกูล เจ้าอาวาสวัดนิคมคณารามเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลก่อนที่พุทธเจ้าจะตรัสรู้ โดยนางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีหมู่บ้านเสนานิคม ได้นำอาหารซึ่งกวนด้วยข้าวมธุปายาส ไปบวงสรวงเทพยดาที่ใต้ต้นนิโครธ ได้พบพระพุทธองค์ ประทับอยู่ใต้ต้นนิโครธเข้าใจว่าเป็นเทพยดา จึงได้ข้าวมธุปายาสไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยเสร็จแล้ว ได้ทรงนำถาดทองที่ใส่ข้าวมธุปายาสนั้นไปลอยน้ำ และทรงอธิฐานว่า ถ้าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้ก็ขอให้ถาดทองนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป เมื่อพระองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ ก็ปรากฏว่า ถาดทองลอยทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิฐาน ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระองค์ได้สำเร็จและตรัสรู้อริยสัจ 4 ได้

ความเชื่อจากอดีตกำนันตำบลแวงที่เกษียณแล้ว ข้าวมธุปายาสนี้ ชาวบ้านเรียกว่าข้าวทิพย์ พร้อมมีความเชื่อว่าหากใครได้รับประธานจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีอนามัยดี จึงนิยมแบ่งกันรับประทาน เพื่อเป็นการสร้างความรักสามัคคีในชุมชนด้วยโดยเฉพาะน้ำมันข้าวทิพย์ นำไปทากลากเกลื้อนได้

สุเทพ ลอยแก้ว/รายงาน

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.