ตำรวจภูธรภาค 2 แถลงข่าว การจับกุมตัวผู้ต้องหาคดีชิงทรัพย์ร้านทองมูลค่ากว่าล้านบาท
1 min readเมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 20 ก.ย.ที่ห้อง ศปก.ภ.2 ชั้น 3 พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.ภ.2 ร่วมกับ พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2 และ พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 ร่วมแถลงข่าวในการจับกุมตัว นายสุนทร ปิ่นนาค ผู้ต้องหาคดีชิงทรัพย์ร้านทองออโรล่าสาขาพัทยาใต้
พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.ภ.2 แถลงว่า ถือเป็นการจับกุมผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งคดีอุกฉกรรจ์ คือคดีที่มีความผิดและอัตราโทษร้ายแรง เช่น คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, ปล้นทรัพย์, ชิงทรัพย์, ลักพาเรียกค่าไถ่ และวางเพลิง โดยในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2566) เกิดคดีอุกฉกรรจ์ขึ้นในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 2 ทั้งหมด 169 คดี (เฉลี่ยเดือนละ 14 คดี) สามารถจับกุมได้ทั้งหมด 169 คดี คิดเป็นผลการจับกุม 100%
ซึ่งในการจับกุมครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือ “ตำรวจสากล” (INTERPOL) ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั้งหมด 194 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้ มีหน้าที่สำคัญ คือเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศต้นทางกับประเทศปลายทาง ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างประเทศ โดยประเทศต้นทางจะต้องประมวลเรื่องเสนอให้ INTERPPOL ในการขออนุมัติการออกหมายแดง (RED NOTICE) ซึ่งเป็นคำร้องให้ประเทศในภาคีเครือข่ายสามารถจับกุมคนร้ายตามหมายแดงได้ โดยจะต้องเป็นคดีที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ เชื้อชาติ ศาสนา การเมือง และต้องไม่มีลักษณะที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้วย โดยตำรวจภูธรภาค 2 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี และ องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญในครั้งนี้
โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ได้รับแจ้งเหตุ คนร้ายใช้อาวุธปืนชิงทรัพย์ร้านทองออโรล่าสาขาโลตัสพัทยา จากการสอบถามพนักงานในร้านให้การว่า คนร้ายเป็นชายไทยเดินเข้ามาภายในร้านและขอดูสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาทและเดินไปมาประมาณ 3–4 รอบ ต่อมาได้ควักอาวุธปืนออกมาข่มขู่พนักงาน แล้วเดินมารวบถาดทองไปจำนวน 2 ถาด รวมหนัก 34 บาท มูลค่า 1,074,060 บาท แล้วถือวิ่งออกไป ผู้ต้องหามีการวางแผนในการก่อเหตุมาอย่างดี โดยมีการตระเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำผิด โดยเฉพาะอาวุธปืนบีบีกัน ที่นำมาใช้ข่มขู่ให้พนักงานประจำร้านทองหวาดกลัว โดยผู้ต้องหาได้วางแผนเส้นทางหลบหนีมาก่อน เนื่องจากเป็นบุคคลในพื้นที่ จึงใช้เส้นทางหลบเลี่ยงตามซอกซอย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตรวจสอบกล้องวงจรปิดทั้งเส้นทางก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุกว่า 150 ตัว ตลอดเส้นทางกว่า 210 กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบกล้องวงจรปิดกว่า 2 สัปดาห์
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบจุดที่คนร้ายนำเสื้อผ้าเเละอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุไปทิ้ง จึงได้ใช้วิธีการสืบสวนภาคพื้นดิน โดยการพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของสิ่งของที่คนร้ายใช้ก่อเหตุในทุกมิติของการสืบสวน -พิสูจน์ทราบ ร้านค้าที่ขายอาวุธปืนบีบีกัน จำนวน 12 ร้าน -พิสูจน์ทราบ บุคคลที่ครอบครองอาวุธปืนบีบีกัน จำนวน 35 คน-พิสูจน์ทราบ ร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าที่คนร้ายใช้ จำนวน 15 เเห่ง-พิสูจน์ทราบ บุคคลที่ลายนิ้วมือเเฝง ใกล้เคียงกับคนร้าย จำนวน 20 คน จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้ทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุในคดีนี้คือ นายสุนทร หรือโต้ง ปิ่นนาค อายุ 34 ปี ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมาทำงานรับจ้างอยู่ย่านนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมาในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 จึงขออนุมัติศาลจังหวัดพัทยา ออกหมายจับนายสุนทรฯ ในข้อหา “ชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดเพื่อพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม” โดยนายสุนทรฯ ถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลตามปฏิทินหมายจับสำนักงานตำรวจแห่งชาติลำดับที่ 50 ที่มีรางวัลนำจับ 80,000 บาท
ต่อมาได้สืบทราบว่านายสุนทรฯ ตั้งใจหลบหนี ไปยังประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2565 และสิ้นสุดการอนุญาตให้อยู่ในประเทศเกาหลีใต้ถึงวันที่ 8 มี.ค. 2566 โดยลักลอบไปประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมบ้านโดยผิดกฎหมายที่เมืองโพซอน มีพฤติการณ์ที่จะไม่ยอมกลับมารับโทษที่ประเทศไทยอีก จึงได้ขออนุมัติต่อองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือตำรวจสากล(INTERPOL) เพื่อออกหมายเเดง (Red Notice) ที่ A-270/1-2023 ลงวันที่ 10 ม.ค. 2566 ในทันที
ซึ่งต่อมา พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 สืบทราบได้ว่าผู้ต้องหาได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว จึงได้ดำเนินการร้องขอความร่วมมือจากตำรวจสากล โดยได้ให้ข้อมูลที่อยู่ของผู้ต้องหาที่ได้จากการสืบสวนทางเทคโนโลยีของ ตำรวจภูธรภาค 2 โดยเชื่อว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนีอยู่ที่เมืองโพชอน จังหวัดแชรอน (ทางตอนบนเกือบถึงชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) แต่ผู้ต้องหาได้รู้ตัวก่อนว่าเจ้าหน้าที่กำลังติดตามหาตัวจึงได้รีบย้ายที่อยู่โดยการช่วยเหลือของนายหน้าหางาน และหลบซ่อนตัวแต่นั้นมา โดยเปลี่ยนไปประกอบอาชีพทำสวนผักและเลี้ยงสุกรและเปลี่ยนที่พักอาศัยไปเรื่อย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศเกาหลีใต้ไปหาตัวไม่พบตามที่อยู่
ต่อมาทางตำรวจภูธรภาค 2 ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ประสานงานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยที่ประจำการอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี และตำรวจสากลของประเทศเกาหลีใต้ กันมาโดยตลอด เพื่อร่วมกันสืบสวนจับกุมคนร้าย จนนำไปสู่การพบที่อยู่ปัจจุบันของนายสุนทรฯ โดยนายสุนทรฯได้ไปลักลอบรับจ้างทำสวนและทำโรงปลูกผักปลอดสารพิษ ที่ตำบล โซวอน อำเภอ แทอัน จังหวัด ชุงชองใต้ (อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้)
ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 ตำรวจเกาหลีใต้จึงได้ไปตรวจสอบและพบตัวนายสุนทรฯในที่สุด เมื่อผู้ต้องหาพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้จึงทราบโดยทันทีว่าได้ถูกติดตามตัว โดยได้สารภาพว่าตนเองได้พยายามหลบหนีเนื่องจากกระทำความผิดมาจากประเทศไทย และแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าขอเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อไปเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่ประเทศไทยด้วยความสมัครใจ เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้จึงได้จับกุมผู้ต้องหาไว้ด้วยความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ และได้ดำเนินการผลักดันกลับประเทศไทยตามความผิดดังกล่าว เมื่อทราบดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยประจำเกาหลีใต้จึงได้ประสานงานตามความต้องการของผู้ต้องหาไปยังตำรวจภูธรภาค 2 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ได้ทราบและเห็นว่าผู้ต้องหาสำนึกผิดและตั้งใจที่จะกลับเข้ามาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายที่ประเทศไทย และในวันที่ 18 ก.ย. 2566 ตำรวจภูธรภาค 2 โดยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จึงอำนวยความสะดวกและส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 2 นาย เดินทางมารับตัวผู้ต้องหาด้วยตนเองที่ประเทศเกาหลีใต้ในทันที โดยได้เดินทางนำตัวผู้ต้องหากลับมาถึงประเทศไทยในวันดังกล่าว ทั้งนี้ยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับของผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีรายได้และกำลังทรัพย์ในการเดินทางกลับประเทศ และด้วยความร่วมมือของสถานทูตไทยในกรุงโซล สำนักงานตำรวจแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จึงทำให้การเดินทางกลับของผู้ต้องหาเป็นไปได้ความรวดเร็ว โดยใช้เวลาประสานงานและดำเนินการเพียงประมาณ 1 อาทิตย์