เจ้าของโรงงานผลิตกระถางต้นไม้สำหรับปลูกกัญชา พร้อมเจ้าของร้านรวมตัวร้องสื่อ หลังเจ้าหน้าที่ตร.ปอศ.บุกค้นโรงงาน ทำเสียหายกว่าร้อยล้านบาท
1 min readนนทบุรี- เจ้าของโรงงานผลิตกระถางต้นไม้สำหรับปลูกกัญชา พร้อมเจ้าของร้านรวมตัวร้องสื่อ หลังเจ้าหน้าที่ตร.ปอศ.บุกค้นโรงงาน ทำเสียหายกว่าร้อยล้านบาท
วันที่ 8 ต.ค.2566 เมื่อเวลา 08.00 น.เจ้าของโรงงานผลิตกระถ่างต้นไม้รายใหญ่ ย่านกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมกับเจ้าของร้านขายต้นไม้อีก2ราย ในจังหวัดนนทบุรี เดินทางมาร้องสื่อถึงความไม่ยุติธรรม หลังถูกคู่กรณีคือ นาย พฤกษ์ บุญประสบ พร้อมเจ้าหน้าที่ ตร.ปอศ.นำกำลังกว่า 20 นาย บุกค้นโรงงานที่จังหวัด สมุทรสาคร ในข้อหาเกี่ยวกับละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2565 พร้อมกับยึดของกลาง เป็นกระถางปลูกกัญชา หรือกระถางแอร์พอต (มีคุณสมบัติในการเร่งราก) จำนวน 7,500 ใบ พร้อมปิดป้ายประกาศที่เขียนด้วยลายมือ ระบุข้อความว่า “ตรวจยึด/อายัด ตามหมายค้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ที่831/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ห้ามเคลื่อย้าย จำหน่าย จ่ายโอน” ต่อมามีหมายเรียกไปยัง นาย ธีรศักดิ์ พลายแก้ว และ น.ส.พิมปภัสสร พัวพงษ์ไพโรจน์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายต้นไม้ที่มีกระถางดังกล่าวจำหน่าย อยู่ภายในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางนาย พฤกษ์ ซึ่งเป็นคู่กรณี และได้มีการเรียกเงินถึงหลักแสนบาทเพื่อจบเรื่อง
นาย เอกพงศ์ ธัญญานนท์ (สวมเสื้อแจ็คเก็ตสีดำ) ลูกชายเจ้าของโรงงานผลิตกระถางต้นไม้ กล่าวว่า โรงงานเราทำกระถางต้นไม้มานานกว่า 30 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เรื่องของ พ.ร.บ.กัญชา เริ่มมีข่าวว่าจะมีการปลดล็อค พ.ร.บ.กัญชา ก็เลยไปดูว่าต้นกัญชามันต้องปลูกยังไง แล้วก็ออกแบบกระถางมา สุดท้ายแล้วก็ข่าว พ.ร.บ.กัญชาก็เริ่มดร็อปลงไปแล้วก็ช่วงโควิดถูกเข้ามาแทน พอหลังช่วงโควิดมันก็จะมีเรื่องของการที่ดาราปลูกต้นไม้ แล้วก็บูมมากในตอนนั้น บวกกับคนเวิร์คฟอร์มโฮมด้วย เราก็เลยกลับมาทำกระถางที่เป็นกระถางปกติ ซึ่งแบบแรกที่เราออกแบบไว้ถูกเก็บไว้ก่อน แต่แม่พิมพ์แบบทำมาทำเสร็จหมดแล้ว จนกระทั่งช่วงต้นปี 65 พ.ร.บ.กัญชาเริ่มชัดเจนเราก็เลยเอากระถางตัวเนี่ยกลับมาฉีดใหม่ซึ่งจำนวนที่ฉีดไม่เยอะมากประมาณ 3,000 ถึง 5,000 ใบ มีแจกวัดบ้างแจกคนบ้างขายบ้าง คือขายคือขายเพื่อทดลองใช้ แล้วดูว่าลูกค้ามีข้อติเตียนอะไรไหม ซึ่งจำนวนขายเรามีแค่นั้นและส่วนมากทำแจกซะมากกว่า จนกระทั่งประมาณเดือน มิถุนายน 65 ทางคู่กรณี ก็เข้ามาคุยที่โรงงานว่าแบบที่เราทำอยู่ คือแบบของเขา เขามีลิขสิทธิ์ประติมากรรม ซึ่งจะให้เราทำยังไงซึ่งเราอยู่ในวงการนี้มานาน เราก็ไม่อยากมีปัญหาเรื่องคดี ก็เลยบอกว่าโอเคเรายอมเปลี่ยนแบบก็ได้ซึ่งการเปลี่ยนแบบแบบนึง การทำโมใหม่ มีค่าใช้จ่ายหลักล้านบาท เรายอมเปลี่ยนแบบให้ และได้คุยกันว่าเราทำแบบนี้นะ ทางคู่กรณีก็ดูโอเคแล้วเราก็เลยผลิตขายมาจนกระทั่งเดือนตุลาคม 65 ทางคู่กรณีและเจ้าหน้าที่ ตร.ปอศ.ได้เดินทางมาที่โรงงานพร้อมกับหมายศาลมาที่โรงงานว่าทางโรงงานเรา แก้ไขดัดแปลงทำซ้ำสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ และอายัดสินค้า ยึดของกลางไปประมาณสัก 7,000 – 8,000 ใบ 2 คันรถ 10 ล้อ แต่ตนติดใจตรงที่สิ่งที่เขามาจับมันเป็นกระถางที่เราออกแบบใหม่ ก็เลยไม่เข้าใจว่า สินค้าของคู่กรณีเองหรือว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนเองพิจารณาหรือวิเคราะห์จากอะไร มันเป็นการให้ข้อกล่าวหาแล้วว่าเราละเมิดลิขสิทธ์แก้ไขทำซ้ำมีไว้เสนอขาย ทั้งที่แบบก็ไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งทางเราไม่เคยจดลิขสิทธิ์อะไรแบบนี้ ไม่ใช่แค่กระถางต้นไม้ ทั้งอ่างบัว และอย่างอื่นมากมาย ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นของใช้ทั่วไปที่เราออกแบบเอง แต่เราไม่เคยคิดว่าต้องไปจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์อะไรไม่งั้นร้าน 20 บาทหรือร้าค้าทั่วไปก็โดนเราฟ้องกันถ้วนหน้าไปหมดแล้ว
นาย เอกพงศ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบ ทางคู่กรณีก็ได้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตร แต่เป็นการยื่นขอจดแบบออนไลน์ และยังไม่ได้รับอนุมัติจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่เขาก็อ้างว่าเขาได้ลิขสิทธิ์และมีหมายเลขอ้างอิงมาแล้ว ซึ่งหมายเลขดังกล่าวเป็นเลขของใบคำขอจดเท่านั้น และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ ปอศ.บุกเข้ามาก็มีการยึดสินค้าไป และติดป้ายอายัดทรัพย์สินหน้าประตูเข้าออก ทำให้กระทบกับโรงงานหนักมาก เนื่องจากลูกค้าหลายรายยกเลิกออร์เดอร์สินค้าของโรงงานเพราะกลัวจะมีปัญหาทีหลัง และตั้งแต่มีเรื่องจนถึงตอนนี้ทำให้รายได้ของโรงงานหายไปกว่าร้อยกว่าล้านบาท และกระทบไปถึงพนักงานของโรงงานด้วย ในส่วนของคดี ทางอัยการพิจารณาสำนวนมันมีความผิดปกติในเรื่องการส่งสำนวนไปและถูกส่งกลับมา เนื่องจากสำนวนไม่เพียงพอ ข้อมูลไม่เพียงพอไม่ชัดเจนก็ส่งกลับไปตำรวจ ประมาณ 3-4 รอบแล้ว จนเวลาล่วงเลยมาถึงตอนนี้ ซึ่งอัพเดทล่าสุดก็คือเมื่อสัก 2 วันก่อน ได้โทรถามดู อัยการบอกว่าเรื่องที่ตำรวจต้องแย้งส่งกลับมาแล้วตอนนี้เหลือแค่ว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตอนนี้ก็ไม่มีการคุยกับคู่กรณีแล้ว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกฏหมาย ตอนนี้ตนติดใจเรื่องของหมายค้นและคำสั่งอายัด ทำไมหมายค้นตนถึงขอดูไม่ได้ มีแต่เจ้าหน้าที่มาอ่านให้ฟัง หมายอายัดก็ไม่ใช่ออกสารทางราชการไม่มีตราครุฑหรือตราประทับจากหน่วยงานใด เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ ปอศ.เขียนด้วยปากกาเมจิคแล้วเอามาติดไว้เอง
ทางด้าน นาย ธีรศักดิ์ พลายแก้ว (สวมเสื้อเชิทแขนสั้นสีมาวงอ่อน) อายุ 55 ปี เจ้าของร้านขายต้นไม้ย่านบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เล่าว่า ตนขายออนไลน์มา 9ปี และจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายปีนี้ เป็นปีที่6แล้ว และเมื่อวันที่ 9 ก.ค.65 ตนก็ได้โพสขายกระถางตัวนี้ ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ชื่อ Pruck Boonprasop ทักหามาหาตนบอกว่าตนนั้นขายสินค้าก็อบปี้เลียนแบบเหมือนของเขาและได้มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้วพร้อมทั้งส่งหลักฐานต่างๆเข้ามาให้ตนดู ต่อมาวันที่ 18 ก.ค.ตนได้นำกระถางต้นไม้ดังกล่าวไปให้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสอบถาม และได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นเพียงแค่คำขอจดยังไม่ได้รับการอนุญาตแต่อย่างใด และสินค้ายังไม่ได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด และเพิ่งจะส่งคำขอจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 นี้เอง แต่เขาทักมาหาตนวันที่ 9 ก.ค.65 ซึ่งระยะเวลาแค่วันเดียวเท่านั้นที่เขายื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรดังกล่าว และตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรแล้ว การขอยื่นจดทะเบียนต้องเป็นสินค้าตัวใหม่ และไม่เคยมีเผยแพร่หรือจำหน่ายมาก่อน ซึ่งทางตนได้โพสขายตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65แล้ว แต่เขาเพิ่งมาขอจดวันที่ 8 ก.ค.65 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้แนะนำว่าอย่างนี้จดไม่ได้ ในเวลาต่อมา วันที่ 26 ก.ค.ก็ได้มีหมายเรียกมาจาก ปอศ.ให้ไปพบและทางนาย พฤกษ์ ก็ได้แจ้งความตนในข้อหาละเมิดลิขสิทธ์ประติมากรรม และก็ได้มีการให้ไปเจรจาไกล่เกลี่ย ในลักษณะเหมือนจะให้เราต้องจ่ายเงินหลักแสน เพื่อให้เรื่องนี้จบ แต่ตนไม่ได้สนใจ จนตอนนี้เวลาผ่านมาครบปีแล้ว ทางคู่กรณีก็ประโคมข่าวต่างๆนาๆ ว่าเราขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของเขา และใช้หมายเลขคำขอจดสิทธิใบไปลงโฆษณา ว่านี้คือหมายเลขสิทธิ์บัตรที่เจ้าหน้าที่ออกให้ ซึ่งความจริงเป็นเพียงแค่หมายเลขหนังสือคำขอเพียงเท่านั้น ในส่วนนี้ตนได้นำเรื่องแจ้งกับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ดำเนินการตามกฏหมายแล้ว เรื่องนี้สร้างความเดือดร้อนให้ตนเป็นอย่างมาก เพราะตนก็ไม่สามารถขายกระถางตัวนี้ได้เลย เพราะคดียังไม่จบ ความเสียหายที่ร้านตนได้รับต่อเดือนหลักล้าน แล้วนี้ปีนึงแล้วเสียหายหลายล้านแล้ว
ด้าน น.ส.พิมปภัสสร กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากตนเปิดร้านขายของและมีคนรู้จักเยอะ อยู่ๆก็มีหมายเรียกมาที่ร้านซึ่งข้อหาที่โดนเหมือนกันคือ ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ซึ่งตนค้าขายมาหลายปีสินค้าต่างๆก็ดีลกับทางโรงงานไม่ต่ำกว่า 10 โรงงาน กระถางที่ขายในร้านมีเป็นพันๆแบบ ตั้งแต่ค้าขายมาไม่เคยเจอเรื่องพวกนี้เลย และไม่รู้ว่าสินค้าที่ตนโดนมีลิขสิทธิอะไรจริงไหมจึงได้ทีการให้ทนายเข้าไปติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตร.ก็ได้ให้เข้ามาเคลียร์กับทาง นาย พฤกษ์ ซึ่งเป็นคู่กรณี ซึ่งตนมองว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด จึงได้รอให้เจ้าหน้าที่ช่วยออกหมายมาให้ครบ3ครั้ง และให้เรื่องไปถึงศาล ตนจะได้ให้ทนายดำเนินการในเรื่องของการพิสูจน์ความถูกต้อง การจะให้ตนไปเสียเงินเพื่อปิดจบคดี หรือจบเรื่องเหมือนคนอื่นที่เขาจ่ายเงินเพื่อไม่อยากมีปัญหาตนมองว่ามันไม่ยุติธรรม แต่ปัจจุบันระยะเวลาผ่านมาแล้ว1ปี มีหมายเรียกออกมาแค่2ครั้งก็ได้ติดต่อไปที่ตำรวจ ก็ยังไม่มีหมายครั้งที่3มาให้ ตอนนี้เหมือนตนเป็นจำเลยไปแล้วเพราะมันเป็นคดีอาญา ทางทนายก็ได้บอกว่าถ้าตนไม่ไปตามหมายเรียก ตำรวจก็มีสิทธิ์มาจับตน ซึ่งตรงนี้ตนมองว่ามันรุนแรงเกินไป อีกอย่างตนรับสินค้าซึ่งเป็นกระถางต้นไม้จากโรงงาน ตนไม่รู้หรอกว่าทางโรงงานจะผิดจริงหรือไม่ผิด และตนก็ขายสินค้าอย่างถูกต้องไม่ได้แอบเอามาขายหรือลักลอบขายแต่อย่างใดทำไมจะต้องมาโดนหมายเรียกในคดีนี้ด้วย และก็ติดใจในเรื่องของการออกหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอศ.ด้วยคือหมายเรียกครั้งเเรกนัดให้ไปพบเจ้าหน้าที่วันที่ 4 พ.ย.65 แต่หมายเรียกมาแปะที่บ้านประมาณวันที่ 11 พ.ย.65 ซึ่งมันดูย้อนแย้งมากๆ ก่อนหน้านี้เคยให้ทนายเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางคู่กรณีแล้ว แต่เหมือนเขาต้องการให้เราจ่ายเงินเพื่อปิดจบคดีเหมือนรายอื่นๆที่เขาเคยทำได้ ตนจึงได้บอกไปว่าเงินแม้แต่สตางค์เดียวก็จะไม่จ่าย รอไปสู้กันในศาลแต่ตอนนี้ค่อนข้างกังวลไม่รู้ว่าวันนึงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบุกมาจับตนใส่กุญแจมือเมื่อไร แล้วคนรอบข้างหรือลูกค้าจะมองตนอย่างไรเพราะตอนนี้เหมือนตนเป็นจำเลยในคดีอาญาไปแล้ว ซึ่งเรื่องของลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน