“โฆษกกรมคุมประพฤติ” ปลื้มใจ หลังสรุปยอด 7 วัน คดีเมาขับเทศกาลปีใหม่ลดลงจากปีที่แล้ว 703 คดี
1 min read“โฆษกกรมคุมประพฤติ” ปลื้มใจ หลังสรุปยอด 7 วัน คดีเมาขับเทศกาลปีใหม่ลดลงจากปีที่แล้ว 703 คดี ขอบคุณ ปชช. – หน่วยงานภาคี ร่วมรณรงค์ มั่นใจ “สงกรานต์” ยอดอุบัติเหตุลดลงตามไปด้วย
เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 5 ม.ค. ที่ ห้องประชุมกรมคุมประพฤติ ชั้น 4 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ และในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ กล่าวสรุปปิดยอดสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ในช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน (29 ธ.ค.66 – 4 ม.ค.67) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,150 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,100 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.65 คดีขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.09 และคดีขับเสพ 49 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.26 ยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธ.ค.66 – 4 ม.ค.67) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,102 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 7,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.06 คดีขับรถประมาท 5 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.06 คดีขับเสพ 233 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.88
โฆษกกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ส่วนจังหวัดที่มีคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 469 คดี นครพนม 351 คดี และหนองคาย 328 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 8,567 คดี กับปี พ.ศ. 2567 จำนวน 7,864 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลง 703 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.2 นอกจากนี้ ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจรที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 765 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 28,857 คน ส่วนมาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัด กระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำหรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมต่อไป
โฆษกกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า เรามีมาตรการ 2 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน และด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยในด้านการป้องกัน เราไม่ได้ดำเนินการแค่ช่วงเทศกาล แต่ดำเนินการตลอดช่วงปีร่วมกับอาสาสมัครคุมประพฤติและหน่วยภาคี ชุมชน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมาย เราดำเนินการทั้งในเรื่องของการคุมความประพฤติตามเงื่อนไขคำสั่งของศาล และเมื่อกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการของสำนักงานคุมความประพฤติ ก็จะได้รับการคัดกรองจำแนก เช่น คดีขับรถขณะเมาสุรา ก็จะต้องมีการคัดกรองก่อนว่าผู้ดื่มมีความเสี่ยงอยู่ในระดับใด รวมถึงจะต้องมีการจำแนกว่าจะต้องได้รับการดูแลจากสำนักงานคุมประพฤติอย่างไร เพราะการจำแนกจะมีการแบ่งระดับจากความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงสูง แต่ประการที่สำคัญที่สุด คือ กรมคุมประพฤติจะดูแลในเรื่องของการแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งภายหลังการจำแนกแล้วจะดูว่ารายใดต้องเข้าร่วมในกิจกรรมใดบ้าง เช่น อาจทำงานบริการสังคม หรือรับความรู้กฎหมายจราจร หรือโทษของแอลกอฮอล์เพิ่มเติมจากการทำแบบทดสอบ ซึ่งบางรายอาจพิจารณาให้เข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ถ้ายังมีสภาวะเสี่ยง เราก็จะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยกันดูแล
โฆษกกรมคุมประพฤติ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัจจัยแรกที่ทำให้คดีเมาขับลดลง ตนต้องขอบคุณสื่อสารมวลชนที่มีการร่วมกันประชาสัมพันธ์ ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลงด้วย เพราะเรามีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของ 7 วันสำคัญ รวมถึงทุกหน่วยงานยังช่วยโหมโรงประชาสัมพันธ์ถึงการเมาแล้วควรอยู่บ้าน ไม่ออกมาขับรถ ทำให้สถิติคดีที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการคุมความประพฤติลดลงเป็นอย่างมาก ปัจจัยที่สอง ตนเล็งเห็นว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในวันที่ 31 ธ.ค.66 และวันที่ 1 ม.ค.67 เท่านั้นที่มีสถิติคดีสูง แต่หลังจากนั้นก็ผ่อนคลายลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจัยที่สาม มาตราการทางกฎหมายที่เข้มข้นขึ้น ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมาย และประการที่สี่ พี่น้องประชาชนทุกคนที่เฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ก็ยังดูแลตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคม.
ทั้งนี้ โฆษกกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงเป้าหมายสถิติคดีเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง ว่า ตนหวังว่าสถิติคดีจะลดลงอย่างต่อเนื่องเหมือนกับเทศกาลปีใหม่ เพราะทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน ประชาสัมพันธ์ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากกรมคุมประพฤติถือว่าเป็นหน่วยงานปลายน้ำที่รับหน้าที่ในการดูแลผู้ที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ดังนั้น เมื่อเห็นยอดสถิติสรุปรวมจำนวนคดีลดลงในเทศกาลเฉลิมฉลอง จึงมั่นใจได้ว่าความร่วมมือร่วมใจของทุกท่านมีผลดีต่อสังคม.