ผบช.ภ.3 มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา
1 min readวันที่ 13 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ฐากูร นัทธีศรี ผบช.ภ.3 พร้อมด้วย พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ รอง ผบช.ภ.3, พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์, รอง ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์, ผกก.(สอบสวน)ฯ ภ.จว.บุรีรัมย์, ผกก.สืบสวน ภ.จว.บุรีรัมย์ และ หน.สภ.ในสังกัด ภ.จว.บุรีรัมย์ รวม 34 สภ.ร่วมประชุมกำชับมาตรการและการปฏิบัติในการป้องกันเหตุและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของกลุ่มวัยรุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ณ ห้องประชุมชั้น 5 ภ.จว.บุรีรัมย์ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
โดยพล.ต.ท.ฐากูร นัทธีศรี ผบช.ภ.3 กล่าวว่าตามที่นักเรียน นักศึกษา มีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกาย บางกรณี ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บสาหัส บางรายถึงขั้นทุพพลภาพในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จึงกำชับให้ทุก สภ. จัดประชุมร่วมและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผน มาตรการ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันเหตุดังกล่าวมิให้เกิดขึ้นอีกทางตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการ ข้อสั่งการ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจภูธรภาค 3 เพิ่มเติมอีกตามมาตรการดังนี้
โดยกำหนดมาตรการเชิงรุกให้ทุก สภ. ประสานสถานศึกษา โรงเรียน จัดทำข้อมูลประวัติของนักเรียน นักศึกษาทุกคนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิด พร้อมภาพถ่ายและประวัติผู้ปกครอง เสร็จแล้วให้แจ้งประสานข้อมูลให้ผู้ปกครองร่วมกันแก้ไขปัญหาและเป็นการป้องปราม ,ให้ทุก สภ. สืบสวนหาข่าว ข้อมูลกลุ่มบุคคล/บุคคล นักเรียน นักศึกษา หัวหน้ากลุ่มแก๊ง ที่เคยก่อเหตุทะเลาะวิวาท และมีพฤติการณ์ก่อเหตุทะเลาะวิวาทเป็นประจำ ทั้งออนกราวด์/ออนไลน์ โดยจัดทำแฟ้มและถ่ายภาพทำประวัติหากพบกรณีมีปัญหาทะเลาะวิวาท ให้ หน.สภ.เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ร่วมกับอาจารย์ฝ่ายปกครองหรือกิจการนักเรียนของสถานศึกษาโดยด่วน ,ประสานกับสถานศึกษาที่มีความเสี่ยง จัดให้มีมาตรการเพื่อตรวจค้นอาวุธทุกชนิด ไม่ให้มีการนำเข้ามาในสถานศึกษา
มาตรการปฏิบัติการ กำหนดให้ หน.สภ.ทุกแห่ง ประสานผู้บริหารโรงเรียน สถานศึกษาในพื้นที่ แล้วจัดตั้งกลุ่มไลน์ สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแจ้งเบาะแสหรือพฤติกรรมของเด็กนักเรียนเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง , เพิ่มความเข้ม และความถี่ในการดำเนินการตามโครงการตำรวจประสานโรงเรียน (1ตำรวจ 1 โรงเรียน) เป็นการดำเนินการในลักษณะ ครู 3 ฝ่าย ตำรวจ 1 ฝ่าย คือ ครูฝ่ายพิสูจน์ ,ครูฝ่ายป้องกัน , ครูฝ่ายปกครอง ,ตำรวจประสานโรงเรียน และโครงการเปิดโรงเรียน เปิดโรงรถ
โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขคำสั่งข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นปัจจุบัน และติดตามผล
การปฏิบัติของตำรวจประจำโรงเรียน มีการจัดทำฐานข้อมูลเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงของแต่ละ
โรงเรียน และประชุมวางแผนแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน ส่วนมาตรการบังคับใช้กฎหมาย
ให้ทุก สภ. นำมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการร่วมรับผิดของบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง กรณีเด็กหรือเยาวชนกระทำผิด อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ยังมีการกำหนดมาตรการป้องกันให้ทุก สภ. ประสานข้อมูลเกี่ยวกับงานหรือปฏิทินการปฏิบัติของสถานศึกษา โรงเรียนร่วมเขียนแผนหรือเพิ่มกิจกรรมในวันปฐมนิเทศนักเรียน นักศึกษา หรือวันเปิดเทอมของทุกสถานศึกษา ก่อนเปิดเทอมจะมีการปฐมนิเทศ อบรมธรรมะ เข้าค่ายพัฒนาจิต โดยให้ สภ. จัดวิทยากรเข้าไปร่วมวางแผนร่วมกิจกรรมกับสถานศึกษาด้วย