เสาร์. พ.ย. 2nd, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

“สุริยะ” เข้มสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 6,104 รง.ทั่วประเทศ เสี่ยงปล่อยฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (มีคลิป)

1 min read

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นำทัพผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และสส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมตรวจสอบสถานการณ์การปล่อยฝุ่น PM2.5 ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้พลังงานจากหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนซึ่งมีกว่า 1.3 หมื่นเครื่องทั่วประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ตรวจโรงงานในพื้นที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สส.พรรคพลังประชารัฐ ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกับผู้ประกอบการในการเร่งตรวจสอบ และหามาตรการในการลดปัญหามลพิษ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งออกมาตรการ และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเชิงพื้นที่การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบ เครื่องมือ และกลไกการบริหารจัดการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จำนวน 6,104 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีการใช้พลังงาน ในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนอุปกรณ์เหล่านั้นรวมกันกว่า 13,629 เครื่องทั่วประเทศ แบ่งเป็น โรงงานภาคกลาง 3,338 แห่ง, ภาคเหนือ 286 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 513 แห่ง, ภาคตะวันออก 1,148 แห่ง, ภาคตะวันตก 324 แห่ง และภาคใต้ 495 แห่ง ส่วนใหญ่ฝุ่นละออง PM2.5 จะเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงสีข้าว, ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้ง, การฟอกย้อม, การเกษตรแปรรูป, เคมีภัณฑ์, การแปรรูปไม้, สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงที่ใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ จำนวน 13,629 เครื่อง ส่วนใหญ่จะใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล, น้ำมันก๊าด, ก๊าซธรรมชาติ, แอลพีจี, ชีวมวล และถ่านหิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ก็ได้มีการจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำ ความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี และต่อไปก็จะขยายไปโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ

“แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษระบุว่าปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลส่วนใหญ่ เกิดจากยานพาหนะถึง 52% การเผาในที่โล่ง 35 % จากพื้นที่อื่น 7 % จากฝุ่นดิน ฝุ่นโลหะหนัก 6 % และโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์สูง ประมาณ 3-5 % นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้สั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ตรวจ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้หน่วยงานในสังกัด ออกมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแล้ว มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้โรงงานลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว

โดยวันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน 2 แห่ง ที่มีหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน ประกอบด้วยบริษัทไมลอทท์ แลบบอราทอรี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนเทพารักษ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอมปรับอากาศ และเครื่องเสริมความงามอื่น ๆ เช่น สบู่ วัสดุสังเคราะห์สำหรับซักฟอก แชมพู ผลิตภัณฑ์สำหรับโกนหนวด ผลิตภัณฑ์สำหรับชำระล้างหรือขัดถูเกี่ยวกับเคมีอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น น้ำยา ผง ผงเคมี ครีม ใยทำความสะอาดพื้น ผนัง ห้องครัว ห้องน้ำ สุขภัณฑ์ การทำยาฆ่าเชื้อโรค ยาดับกลิ่น การทำคราม เป็นต้น

ทั้งนี้บริษัทไมลอทท์ จะให้บริการทุกกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่ Start-up ไปถึงบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ผลิตสินค้าสำหรับทั้งในประเทศ และส่งออกไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนกระบวนการผลิตบริษัทยังได้เปลี่ยนระบบหม้อต้ม (Boiler) จากการใช้น้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแอลพีจี ซึ่งมีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง พร้อมทั้งยังจัดให้มีการใช้รถดูดฝุ่น และฉีดพรมน้ำบริเวณถนนด้วยน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Re-use) ซึ่งบำบัดมาจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิต มีการตรวจวัดปริมาณฝุ่นPM 2.5 ภายในบริษัท และที่สำคัญบริษัทประกาศพร้อมจะตอบสนองนโยบายของรัฐ สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรงงานต้นแบบที่ประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง

จากนั้นได้เดินทางไปยังบริษัท แปซิฟิค เวิลด์ อัลลอย จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียม เช่น วัตถุดิบเศษชิ้นส่วนยานยนต์ เช่นหม้อน้ำ เสื้อสูบฝาสูบรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมแท่ง(ingot) ซึ่งมีกำลังการผลิต 2-3 ตันต่อวัน ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาทำการหลอมวันละ 3-4 ชั่วโมง โดยมีระบบบำบัดโดยการสเปรย์น้ำและพ่นลงน้ำก่อนระบายอากาศออกปล่องระบายอากาศ ความสูงปล่อง 20 เมตร ในอดีตเคยมีเรื่องร้องเรียน กลิ่น ฝุ่น ควัน แต่ปัจจุบันปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดโดยสร้างใหม่ แทนชุดเดิมทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่ดีในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำให้มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์, ตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบขจัดมลพิษอากาศให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอ, ศึกษาการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงให้เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น, จัดทำมาตรการป้องกันเขม่าควันและไอระเหยของสารเคมีจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำ และตรวจวัดคุณภาพอากาศของปล่องระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษ และยังช่วยให้บริษัทประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนได้อีกด้วย

ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่ร่วมคณะในการตรวจสอบโรงงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นางสาวภรีม พูลเจริญ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ และนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา โดยมีแผนที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลโดยจะกำชับผู้ประกอบการโรงงานในเขตพื้นที่ของตนต่อไป

ภาพ​/ข่าว​ สมัย​ นิกูล​รัมย์​

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.