ผู้การปทุมฯ ประสาน อบจ.ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ภายในกอง บก.ภ.จว.ปทุมธานี (มีคลิป)
1 min readวันที่ (20 มี.ค. 63) ที่ กอง บก.ภ.จว.ปทุมธานี พล.ต.ต ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ได้ประสาน นายชาญ พวงเพ็ชร นายก อบจ.ปทุมธานี และ นายสาคร อำภิน รองนายก อบจ.ฯ นำน้ำยาไบโอ มาฉีดทั่วที่ทำการทั้งภายใน-นอกอาคาร ภ.จว.ฯ และ ที่ตัวอาคารกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ยังได้มอบหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย แก่ข้าราชการตำรวจ ฝอ.ภ.จว.ปทุมธานี เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ตามนโยบายของ ตร.และ ภ.1 โดยจัดให้มีการตรวจคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกายและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนเข้าอาคารที่ทำการ ภ.จว.ปทุมธานี
พล.ต.ต ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ฯ ยังกล่าวอีกว่า การที่มีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แบะมอบหน้ากาก รวมทั้งเจลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้รเนืรองจากสถานที่กอง บก.ภ.จว.ฯ แห่งนี้ ถือเป็นส่วนราชการที่มีพี่น้องประชาชนเข้ามาติดต่อราชการเป็นจำนวนมาก และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และพี่น้องประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
และตามที่ ผบ.ตร. ออก 6 มาตรการ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด19 โดยดำเนินการตามแนวทางของ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้สั่งการเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและข้าราชการตำรวจทุกนาย ดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถในการสนับสนุนและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019(Covid19) เป็นมาตรการ 6 ด้าน ดังนี้
1.ด้านสาธารณสุข การป้องกันสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย มอบหมายให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รับผิดชอบการดำเนินการต่อคนเข้าเมือง โดยเฉพาะบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติ ด่าน ตม.ชายแดน จุดผ่านแดนทุกแห่งทั่วประเทศ และเมื่อได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ร่วมกันรับผิดชอบตรวจสอบติดตามการอยู่ในประเทศให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต กรณีพบว่ามีลักษณะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการโดยด่วน
2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน มอบหมายให้ โรงพยาบาลตำรวจ รับผิดชอบสำรวจเวชภัณฑ์ป้องกันที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติภารกิจทุกประเภท โดยเฉพาะการตรวจ ป้องกัน รักษาข้าราชการตำรวจ ครอบครัว และประชาชนที่เข้ามารับบริการ ณ โรงพยาบาลตำรวจ และ โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด รวมทั้งเตรียมการเพื่อรองรับภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมตามแผนในระยะต่อไป
3.ด้านข้อมูล การชี้แจงและการร้องเรียน มอบหมายให้ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบเฝ้าฟังและติดตามการชี้แจงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล(กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ข้อมูลโควิด-19) แล้วแจ้งศูนย์ข้อมูลทุกแห่งทราบเป็นแนวทางในการตอบคำถามผ่านโทรศัพท์สายด่วน โดยเฉพาะศูนย์ 191 ทั่วประเทศ และเมื่อศูนย์ 191 ได้รับแจ้งข้อมูลเบาะแสสำคัญที่จะต้องดำเนินการต่อ ให้แจ้งศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1599 เพื่อรายงานศูนย์ข้อมูลโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
4.ด้านมาตรการป้องกัน มอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 รับผิดชอบสนับสนุนการตรวจตราการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น เช่น สถานบริการ สถานประกอบการ ที่เปิดให้บริการในลักษณะสถานบริการ สถานประกอบกิจการ อาบ อบ นวด โรงภาพยนต์ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า และการประกาศงดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากในทุกกรณี ทั้งนี้เป็นไปตามที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่า กทม. ประกาศกำหนด ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 สำหรับการตรวจตรา เฝ้าระวังตามมาตรการป้องกัน สำหรับพื้นที่/สถานที่ที่ยังต้องเปิดให้บริการ ให้ประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการ/หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผน เตรียมความพร้อมให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติได้ทันทีเมื่อได้รับคำสั่ง หรือได้รับการร้องขอ โดยผู้บัญชการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการ ภาค 1-9 และ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกแห่ง ต้องกำหนดผู้ติดต่อประสานงานโดยตรง กับกรุงเทพมหานคร และ จังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยรับผิดชอบแนวทางเพิ่มกลไกการกำกับดูแลในระดับพื้นที่ ตามมติ ครม. แล้วแต่กรณี
5.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา มอบหมายให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รับผิดชอบเพิ่มความเข้มงวดในการสืบสวนจับกุมการปล่อยเงินกู้นอกระบบ และการดำเนินการตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องการควบคุมสินค้าและบริการ รวมทั้งเร่งป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การโจรกรรมทรัพย์สินในเคหะสถาน ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ และการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์
6.ด้านอื่นๆ เพื่อป้องกันตนเอง และครอบครัวให้ปลอดภัยจากการรับเชื้อ ปฏิบัติตามมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ให้งดการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ แต่ยังต้องเปิดให้บริการอยู่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร รวมทั้งขนส่งสาธารณะทุกประเภท หากจำเป็นต้องเข้าไปในสถานที่ดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเคร่งครัด
ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องจัดให้มีการตรวจคัดกรอง ด้วยการวัดอุณภูมิก่อนเข้าอาคาร/สถานที่ทำการ หรือการคัดกรองด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออื่นที่เหมาะสม สำหรับกำลังพลที่ปฏิบัติงานสัมผัสกับประชาชน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ/ใช้เจล/แอลกอฮอล์ล้างมือ สวมถุงมือยางขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการตรวจค้น สัมผัสกับบุคคล เอกสาร ยานพาหนะ ทรัพย์สินหรือสิ่งของ/ของกลางในคดี โดยประสานกับโรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแนวทางการเหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลาพักรับประทานอาหาร จัดที่นั่งรับประทานอาหารให้ห่างกันในระยะปลอดภัย ตลอดจนพิจารณางานที่เหมาะสม และสามารถมอบหมายให้ทำที่บ้านแทนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงชั้นความลับ/ความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ และต้องไม่เกิดความเสียหายโดยเด็ดขาด
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อห่วงใยจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นอกเหนือจากที่ได้กำชับในเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และครอบครัว ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด19 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย ไม่เป็นภาระกับงานสาธารณสุข และยังเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอีกด้วย ผู้การปทุมฯ กล่าว
ภาพ/ข่าว สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม รายงาน