เปิด 16 ข้อกำหนด “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โควิด-19 ฝ่าฝืนเจอโทษ
1 min readสืบเนื่องจากจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขออำนาจคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยการใช้ พรก. ดังกล่าว จะเริ่มวันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยยกระดับศูนย์โควิด เรียกว่า ศอฉ.โควิด โดยมีนายก เป็นประธาน โดยพรก.ดังกล่าว มีอายุ บังคับใช้ 1 เดือน
วันนี้ (25 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดและข้อกำหนด เพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีเนื้อหา 16 ข้อกำหนด ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 มีดังต่อไปนี้
- การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง
ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรค โควิด-19
- การปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค
พิจารณาสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว สั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้
- สนามมวย, สนามกีฬา, สนามแข่งขัน, สนามเด็กเล่น, สนามม้า ในทุกจังหวัด
- ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการอาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- สถานที่อื่นนอกจากนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า
- การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือ ทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือ จุดผ่อนปรนตามกฎหมาย
- การห้ามกักตุนสินค้า
ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
- การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ
- การเสนอข่าว
ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- มาตรการเตรียมรับสถานการณ์
- ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ
- ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดและประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชน
- ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งเตรียมหาบุคลากรทางการแพทย์จากแหล่งต่างๆ และเตรียมสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกต หรือเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น
- มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท
ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่ายดังต่อไปนี้ อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
- กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง, โรคในระบบทางเดินหายใจ, โรคภูมิแพ้
- กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
- มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร
ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศ ซึ่งมิได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร
- มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย
ในกรุงเทพฯ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม
- มาตรการป้องกันโรค
ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป หรือใช้ในกรณีผ่อนผัน หรือ ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด
- นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ
รัฐบาลมีนโยบายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนซึ่งมิใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการและแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ เพื่อความสะดวกและความเป็นอยู่ตามปกติของประชาชน
- คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด
ในช่วงเวลานี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้ โดยไม่จำเป็นและควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน
- คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆ
การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคลสมรส, พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม
- โทษความผิด ผู้ฝ่าผืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 – 6 แห่งข้อกำหนดนี้
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 1, 2, 3, 4, 5, 6 ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
- การใช้บังคับข้อกำหนดนี้
ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.