ภาพสวนลำไย นอกเขตชลประทาน ริมคลองธรรมชาติในพื้นที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ที่ยืนต้นขาดน้ำแห้งตาย รวมทั้งสระกักเก็บน้ำประจำหมู่บ้านที่แห้งขอด (มีคลิป)
1 min readภาพสวนลำไย นอกเขตชลประทาน ริมคลองธรรมชาติในพื้นที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ที่ยืนต้นขาดน้ำแห้งตาย รวมทั้งสระกักเก็บน้ำประจำหมู่บ้านที่แห้งขอด ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนลำไย ทำให้ขาดรายได้ และได้รับความเสียหายจากการทำเกษตรต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีสระกักเก็บน้ำ แต่ประมาณน้ำฝนที่กักเก็บได้มีไม่พอเพียงต่อการบำรุงผลผลิต หลายภาคส่วนได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย ด้วยการขุดสระน้ำสาธารณะเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่กักเก็บน้ำส่วนรวม รวมทั้งลำคลอง หนอง บึง ก่อนที่จะให้เกษตรกรผันน้ำเข้าสวนตัวเองอย่างเป็นระบบ ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มผู้ใช้น้ำแต่ก็ได้เพียงแค่ยับยั้งความแห้งแล้งได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
พื้นที่การปลูกผลไม้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงต่อความต้องการน้ำของเกษตรกร ขณะเดียวกันชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องการน้ำในการอุปโภค – บริโภค หากในอนาคตลุ่มน้ำโตนเลสาบ อำเภอโป่งน้ำร้อน และ อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรีมีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดกลาง ก็จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ดีขึ้น เสริมศักยภาพความมั่นคงด้านแหล่งน้ำขณะที่เกษตรกรเอง ก่อนที่จะทำการลงทุนเพาะปลูกต้องวางแผน บริหารจัดการเรื่องน้ำให้เพียงพอต่อต้นทุนการใช้น้ำในแต่ละปี เนื่องจากแหล่งน้ำที่มีจำกัด
ในปีนี้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้ทุ่มเททั้งงบประมาณ และ สรรพกำลังเพื่อยับยั้งสถานการณ์ภัยแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดจันทบุรี ทั้งการนำเครื่องจักรกลขุดลอกคู คลอง สระน้ำสาธารณะเพื่อขยายพื้นที่กักเก็บน้ำ และ ป้องกันน้ำท่วม เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดผลกระทบ เพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต เกษตรกร และในปีหน้า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีได้อนุมัติงบประมาณ 98 ล้านบาทเพื่อวางแผนการป้องกันภัยแล้งไว้เบื้องต้นแล้วซึ่งเป็นแผนในป้องกันสถานการณ์ภัยแล้งลดผลกระทบต่อประชาชน และเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าไม่รอให้เกิดสถานการณ์ขึ้นก่อนซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจไม่ทันการในการระงับยับยั้งสถานการณ์ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม การป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการแบ่งพื้นที่ขุดสระกักเก็บน้ำของตนเอง วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และ เต็มรูปแบบ ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า ก็จะทำให้การเพาะปลูกผลไม้ได้ผล มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ปลดเปลื้องหนีสิน ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก