แม่น้ำยมพิจิตรแห้งขอด ไม่รอแล้วเขื่อนแก่งเสือเต้นกรมชลประทานเร่งมือสร้างอาคารบังคับน้ำแบบขั้นบันได (มีคลิป)
1 min readสส.พปชร.พิจิตร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเขตเมืองชาละวันพบว่าวันนี้แม่น้ำยมยังคงมีสภาพแห้งขอดแต่มั่นใจอนาคตปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันไดเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งลำน้ำ งานนี้ชาวบ้านเชียร์กรมชลฯเร่งเดินหน้า ไม่ต้องรอแล้วเขื่อนแก่งเสือเต้น
วันที่ 21 พ.ค. 2563 นายพรชัย อินทร์สุข สส.พปชร.พิจิตร เขต 1 , นายภูดิท อินสุวรรณ์ สส.พปชร. เขต 2 , และตัวแทนของ นาย สุรชาติ ศรีบุศกร “ส.ส.ไก่” สส.พปชร. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ในเขตลุ่มน้ำยมของจังหวัดพิจิตร โดยได้เดินทางไปที่สถานที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแห ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำยม ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่กำลังลงมือก่อสร้างรวมถึงได้เดินทางไปที่บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่บริเวณแม่น้ำยมจุดดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมฝายยางสามง่ามแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2554 ใช้เป็นอุปกรณ์ในการกักเก็บน้ำได้ด้วยดีมาตลอด แต่เมื่อพ.ศ. 2561 เกิดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กรมชลประทานจึงจัดสรรงบประมาณจำนวน 160 ล้านบาทเศษ ให้ดำเนินการสร้างขึ้นใหม่เป็นฝายไฮดรอลิก ( Hydraulic ) แบบฐานพับได้ “ฝายพับได้” ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้มี นายนิวัตน์ธนา เพ็ชร์สุขุม ผอ.โครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทาน ที่ 3 จ.พิษณุโลก , นายอำนาจ อินทร์วงศ์แก้ว ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร , นายธีระพงศ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก ร่วมกันให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมความคืบหน้าของการก่อสร้างฝายพับได้ดังกล่าว
นายธีระพงศ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก เปิดเผยว่า…ราษฎรในลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร แต่เดิม เรียกร้องอยากให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ติดปัญหาด้านมวลชนและสิ่งแวดล้อมจึงทำให้โครงการก่อสร้างต้องถูกพับลงไป จากนั้นกรมชลประทานรวมถึงภาคประชาชนและฝ่ายการเมืองท้องถิ่น จึงเห็นพ้องต้องกันว่าการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได น่าจะเป็นแนวทางที่ดีเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรจึงทำให้ปัจจุบันนี้ในแม่น้ำยมของพื้นที่จ.พิจิตร จึงเกิดการก่อสร้าง ปตร.ท่าแห ต.กำแพงดิน ขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ลงมือดำเนินการก่อสร้างแล้ว
สำหรับในแม่น้ำยม ถัดลงมาก็คือฝายไฮดรอลิก ( Hydraulic ) แบบฐานพับได้ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างแทนฝายยางสามง่าม ต.รังนก ใช้งบประมาณ 160 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดยกรมชลประทานสร้างเอง และได้ลงมือก่อสร้างเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าถ้าไม่มีอุปสรรคจากภัยธรรมชาติจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็จะแล้วเสร็จทันฤดูน้ำหลากของปี 63 สำหรับฝายแห่งนี้กว้าง 68 เมตร สูง 3.60 เมตร เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทั้งสองฝากฝั่งของแม่น้ำยมในเขต อ.สามง่าม จะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จำนวนหลายหมื่นไร่
นอกจากนี้ในแม่น้ำยมตอนใต้ของเขต อ.โพธิ์ประทับช้าง ก็กำลังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก และ ประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ทั้ง 2 แห่ง อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ชาวนาลุ่มน้ำยมของ จ.พิจิตร ปัจจุบันหันมาสนับสนุนและส่งเสียงเชียร์กรมชลประทานให้มีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได โดยไม่เรียกร้องเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วดังกล่าว
ภาพ/ข่าว สิทธิพจน์ พิจิตร