อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

“มงคลกิตติ์” เสนอยาแรง ใครทำหนี้เสีย ต้องติดคุก-ยึดทรัพย์(มีคลิป)

1 min read

“มงคลกิตติ์” เสนอยาแรง ใครทำหนี้เสีย ต้องติดคุก-ยึดทรัพย์

เต้ พระราม7 เสนอเพิ่มเงื่อนไข พ.ร.ก.กองทุนตราสารหนี้ ให้มีหลักทรัพย์คำประกัน-กำหนดโทษคนทำหนี้เสีย ติดคุก

              การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวาระพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ เพื่อเยียวยา แก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม

                 สำหรับการอภิปราย ส.ส. ในช่วงเช้าได้เน้นการอภิปรายต่อเนื้อหา พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้มีกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่

             โดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์  อภิปรายว่าประสิทธิภาพการกู้เงินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีน้อยกว่ารัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ​และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ  และตามการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจปลายปี 2563 นั้นสภาพเศรษฐกิจจะติดลบ ขณะที่การกู้เงิน ตาม พ.ร.ก. ตนเชื่อว่าจะมีอย่างน้อย 2 ฉบับที่ทำให้เกิดหนี้เสีย และทำให้มียอดหนี้สาธารณะสูงถึง 8.9 ล้านล้านบาท

             “ดังนั้นในการใช้เงินเพื่อใช้ในตลาดตราสารหนี้ ตนมองว่าเป็นการช่วยเหลือกลุ่มนายทุน กลุ่มเจ้าสัว ที่มียอดตราสารหนี้สูงที่สุดในตลาด และไม่มีหลักทรัพย์คำ้ประกัน เพราะใช้เพียงการจัดอันดับเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายจะกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับการซื้อหุ้นกู้ของเอกชน แต่เพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย ต้องกำหนดมาตรการสำคัญ คือ ต้องมีหลักทรัพย์คำ้ประกัน เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย และหากพบว่าอนาคตกลายเป็นหนี้เสีย ต้องถูกยึดทรัพย์ หรือต้องติดคุก” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
       ขณะที่ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนไม่มั่นใจว่าระบบการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน ตามพ.ร.ก.กู้เงินนั้นจะมีประสิทธิภาพ เพราะกระทรวงการคลังไม่มีฐานข้อมูลที่แม่นยำ อีกทั้งยังทำงานล่าช้า ขณะที่การช่วยเหลือผ่านการตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้นั้น พบว่ามีเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยาก และอาจปฏิบัติไม่ได้ เพราะเสียค่าธรรมเนียมสูง ทำให้บริษัทที่ครบกำหนดชำระหุ้นกู้ ต้องกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาชำระ แทนการรอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะต้องเสียงดอกเบี้ยราคาสูง  

             “มาตราการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้ง การช่วยตราสารหนี้ หุ้นกู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี ผมเชื่อว่าช่วยไม่ได้จริง เพราะค่าใช้จ่ายแพง ทั้งนี้ผมขอให้ระวังการใช้จ่ายเงินกู้ด้วย เพราะการกู้เงินของรัฐบาล ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท นั้น ถือเป็นการกู้เงินรอบสุดท้าย และงบกระตุ้นเศรษฐกิจหมดแล้ว จะกู้มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”นายยุทธพงษ์ กล่าว

            ด้านนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำพู พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่ามาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยการปล่อยเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่มีเงื่อนไขให้ปล่อยกู้สินเชื่อกับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นเอ็นพีแอล จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของธนาคาร แต่เอสเอ็มอีรายเล็ก กว่า 3 ล้านราย ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จริงใจต่อการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี รายย่อย เพราะตั้งเงื่อนไขพิเศษให้เฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีรายใหญ่เท่านั้นด้ังนั้น การออกพ.ร.ก.ซอฟท์โลน ปฏิเสธไม่ไดว่า ลูกค้ารายย่อย ตกหล่นจากมาตรการช่วยเหลือและรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งมาตรการช่วยเหลือบนสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องผ่อนปรนมากกว่าเดิม เช่น กรณีไปหาหมอตามนัดแพทย์ หากแข็งแรงจะให้คำแนะนำ เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหารสุขภาพ เพื่อสุขภาพแข็งแรง แต่หากเป็นคนป่วย หมอต้องวิเคราะห์อาการ และแนะนำการรักษาเพื่อให้ใช้ชีวิตปกติ เอสเอ็มอีเช่นกัน ที่เปรียบเหมือนคนป่วย ต้องการหมอที่เก่ง เพื่อรักษาโรคได้ถูกต้อง มาตรการที่เกิดขึ้นต้องผ่อนปรนมากกว่าปกติเพื่อดูแล 

            “สิ่งที่รัฐบาลขับเคลื่อนได้ผ่านกลไกบริหาร คือ ให้เอสเอ็มอีในระบบประกันสังคม ควรเร่งรัดการเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างในระบบ รวมถึงการผ่อนปรนสินเชื่อ ขยายการชำระหนี้และพักหนี้ ส่วนการเก็บภาษีนั้นต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ขณะที่มาตราการซอฟท์โลน ต้องแบ่ง 2 ก้อน ให้สำหรับการผ่อนปรนให้เอสเอ็มอี ที่ไม่อยู่ในระบบธนาคาร กว่า 3 ล้านราย และให้ธนาคารรัฐ 7 แห่งเพื่อช่วยเหลือ ขณะที่อีกก้อนคือการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีในระบบธนาคาร” นายไชยา กล่าว.


Loading...

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.