อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

ปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 โดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

1 min read

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 พลโท สิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วยคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้มาตรวจเยี่ยมความพร้อมของชุดปฏิบัติการรวงผึ้งจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3)และ สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association : TDA) ซึ่งมีหัวข้อการตรวจดังนี้ ความพร้อมด้านร่างกายตลอดจนอุปกรณ์ของชุดปฏิบัติงาน การลงจอดเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่รวงผึ้ง การบรรทุกสัมภาระที่ใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ฯกับเฮลิคอปเตอร์ การติดต่อสื่อสารระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับชุดปฏิบัติงาน และรับฟังการแถลงแผนการปฏิบัติของชุดปฏิบัติงานฯ ทั้งนี้ ผอ.ศทช.ฯ กล่าวให้โอวาทกำลังพลชุดปฏิบัติงานฯ ณ ศูนย์พัฒนาพื้นที่ชายแดน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี

สำหรับปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 เป็นภารกิจในการปฏิบัติงานการปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสมรภูมิรบในอดีต เนื่องจากประมาณ ปี พ.ศ. 2528 กองกำลังต่างชาติได้รุกล้ำอธิปไตยเข้ามาทางประเทศกัมพูชา ยึดภูมิประเทศที่สำคัญ คือ เนิน 500 ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศไทย และได้มีการสู้รบกันเกิดขึ้น จากการสู้รบดังกล่าวทำให้ยังคงเหลือ ทุ่นระเบิดในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นในปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ในความรับผิดชอบของ กองพันทหารช่างที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 และสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association:TDA) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่อันตรายฯ ณพื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 30 พื้นที่ ขนาด 43.4 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายฯ จำนวน 11 พื้นที่ ขนาด 29.7 ตร.กม. ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากการเข้าถึงยากลำบาก พื้นที่เป็นภูเขาสูง อยู่ห่างไกล ไม่มีเส้นทางรถยนต์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีกประมาณ 30 ล้านตารางเมตร โดยปฏิบัติการในพื้นที่ใช้เวลา 30 วัน (16 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม 2563) และส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับแนวทางในการปฏิบัติการเป็นการบูรณาการการปฏิบัติจากหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ,หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ,สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน ร่วมมือกับ กองทัพบกในการสนับสนุนอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) เพื่อนำเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ทำการ สำรวจ ตรวจค้น และองค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในพื้นที่
การบูรณาการในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติในการปฏิบัติภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย และจะนำไปสู่ความมั่นใจของพี่น้องประชาชนในการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ภาพ/ข่าว ณะรินทร์ศาล์ งามวงศ์

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.