นักท่องเที่ยวแห่ชมพระอาทิตย์อัสดงที่ผาพญากูปรี ดื่มด่ำความสวยงามตามธรรมชาติของเทือกเขาพนมดงรักและอ่างเก็บน้ำรอยเชื่อม 2 จังหวัดศรีสะเกษ-สุรินทร์ที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย – กัมพูชา
1 min readเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผาพญากูปรี ตั้งอยู่ริมถนนสายบ้านแซรไปร – ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ 4 กม. เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งพระครูโกศลสิกขกิจ เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนาร่วมกับ พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ อดีต ผบ.กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ในขณะนั้น และทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี และทุกส่วนราชการได้จัดสร้างขึ้นมา เนื่องจากว่า บริเวณนี้มีหน้าผาสูงชันที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักที่เป็นแนวชายแดนกั้นระหว่างไทย–กัมพูชา โดยจัดให้มีการประดับตกแต่งรอบบริเวณอย่างสวยงาม มีรูปปั้นกูปรีขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินดินด้านหน้าของหน้าผา มีการนำเอาหินโบราณอายุกว่า 170 ล้านปีมาจัดเป็นสวนหินสวยงามมาก ปรากฏว่าในวันนี้ ได้มีบรรดานักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาชมจุดชมวิวพญากูปรี เที่ยวชมความสวยงามของผาพญากูปรีและเฝ้าชมพระอาทิตย์ที่กำลังอัสดงเริ่มลอยต่ำลงลับขอบฟ้าที่เป็นทิวเขาพนมดงรัก จากจุดที่เป็นหน้าผาสูง นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ธรรมชาติของต้นน้ำห้วยสำราญที่กั้นระหว่าง อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ กับอ.บัวเชด จ.สุรินทร์ มีต้นน้ำห้วยสำราญเป็นลำห้วยสำคัญที่ไหลลงไปสู่ตัว จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคหล่อเลี้ยงประชาชนชาวศรีสะเกษ นักท่องเที่ยวต่างพากันดื่มด่ำกับความสวยงามตามธรรมชาติของเทือกเขาพนมดงรักและอ่างเก็บน้ำรอยเชื่อม 2 จังหวัดศรีสะเกษ-สุรินทร์ที่อยู่ติดแนวชายแดนไทย – กัมพูชา บริเวณนี้ มูลนิธิหลวงปู่สรวงได้ทำการสร้างศาลาไทย 3 หลัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักชมวิว มีบริการน้ำชากาแฟกูปรี ชงกาแฟโดยทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นอย่างดี สามารถชงกาแฟที่มีรสชาติดี ให้การบริการนักท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เป็นสวัสดิการของหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารีและมีร้านจำหน่ายอาหารบริการนักท่องเที่ยวด้วย
พระครูโกศลสิกขกิจ ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวง เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) กล่าวว่า บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกูปรี สัตว์ป่าจำพวกวัว กูปรีหรือโคไพร เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย และอยู่ใน Appendix I ตามอนุสัญญาไซเตส เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายกับกระทิงและวัวแดง ปัจจุบันกูปรีเป็นสัตว์ป่าหายากกำลังใกล้จะสูญพันธุ์หมดไปจากโลก เนื่องจากการถูกล่าเป็นอาหารและสภาวะสงครามในแถบอินโดจีน ส่วนของไทยเคยมีรายงานว่าพบกูปรีอยู่ตามแนวเทือกเขาชายแดน ไทย-กัมพูชา และลาว ล่าสุด เมื่อปี 2525 มีรายงานพบกูปรีในบริเวณเทือกเขาพนมดงรักแห่งนี้ กูก็คือโค ปรีก็คือป่า เป็นแหล่งกำเนิดของโคป่า กูปรีจะมีรูป่างที่สันทัดสวยงามหล่อมาก ตามตำนานเล่าว่า ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2502 ได้มีพระธุดงค์ไปปักกรดอยู่ข้างหนองระหาร อยู่ห่างจากผาพญากูปรีนี้ประมาณ 1 กม.จะมีหนองน้ำใหญ่ สัตว์ป่าทุกชนิดจะมากินน้ำอยู่ที่หนองระหาร กูปรีฝูงนี้ก็จะมากินน้ำที่หนองน้ำนี้เช่นกัน ซึ่งพระธุดงค์จะมองเห็นว่า กูปรีเป็นสัตว์ที่สวยงามมาก
พระครูโกศลสิกขกิจ กล่าวต่อไปว่า ต่อมาปี 2510 นายพรานคนหนึ่งได้ไปเจอกับกูปรีฝูงนี้ที่หนองน้ำระหาร นายพรานพบว่า หัวหน้าฝูงของกูปรีกลุ่มนี้มีความสง่างามเป็นอย่างมาก ทำให้นายพรานไม่กล้าที่จะยิงเพราะเห็นว่า สัตว์ที่สง่างามควรที่จะอยู่ในป่าผืนนี้ต่อไป และได้กลับใจเลิกเป็นนายพรานไปตลอดชีวิต ต่อมาปี 2518 ประเทศกัมพูชามีการสู้รบกันและมีเขมรแดงหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งค่ายอพยพที่บริเวณนี้จำนวนมาก และได้ใช้น้ำจากหนองระหารเพื่ออุปโภคบริโภค ทำให้สัตว์ป่าพากันหวาดกลัวหนีไปอยู่ทางบ้านนาตราว น้ำตกวังยาวหรือวังใหญ่ กูปรีและสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งก็ลงมากินน้ำที่ลำห้วยสำราญ หลังจากกูปรีกินน้ำและกินดินโปร่งแล้วจะพากันปีนหน้าผาบริเวณนี้ขึ้นไปบนที่สูง ดังนั้น จึงได้เรียกหน้าผานี้ว่า ผาพญากูปรี ความสวยงามของหน้าผารวมทั้งเทือกเขาเป็นแนวยาว ทางราชการจึงได้มาสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่าง อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ จุดชมวิวผาพญากูปรีแห่งนี้เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยเพราะพญากูปรีมีที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ภาพ/ข่าว บุญทัน ธุศรีวรรณ จ.ศรีสะเกษ