กรมอุทยานฯ สั่ง “วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร” แก้ไข พื้นที่ทับซ้อน เขต ขสป.ห้วยทับทัน
1 min readสุรินทร์-อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ลงพื้นที่วัดเขาศาลา แก้ไขปัญหาวัดขออนุญาตใช้พื้นที่ผิดหลักการให้เจ้าคณะจังหวัดแก้ไขและตัดต้นยางพารา และปลูกป่าทดแทน
วันที่ 22 มกราคม 2564 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ตรวจสอบที่พักสงฆ์วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ในกรณีที่มีพื้นที่บางส่วนซ้อนทับกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ จึงได้มีแนวทางแก้ไขโดยเข้าร่วมโครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และได้รับอนุมัติให้เป็นโครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 เป็นการดำเนินการเข้าโครงการพุทธอุทยาน ในระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2559-2563)
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยพระราชวิสุทธิมุนี (หลวงตาเยื้อน) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์(ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุละฐานะจาโร ผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นโครงการพุทธอุทยาน เจ้าหน้าที่ทหาร ทหารพราน ตำรวจตระเวนชายแดน กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีขอต่อใบอนุญาตที่พักสงฆ์วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ที่ สำนักเลขาราชวัง โดยทางสำนักสงฆ์ฯ ขอให้การขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ เป็นไปแบบถาวรไม่ต้องมีการต่อใบอนุญาต หรือให้เป็นการได้รับอนุญาตระยะเวลา 60 ปี ขึ้นไป
โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ได้ชี้แจงในที่ประชุมถึงหลักฐานการเข้าดำเนินคดีเมื่อปี พ.ศ.2560 พบว่ากำลังมีการดำเนินการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้าน ระยะกว่า 2.3 กิโลเมตร พื้นที่กว่า 18 ไร่ และมีการสร้างกำแพง รอบพื้นที่ป่า โครงการพุทธอุทยาน ที่มีการเปิดขุดลอกพื้นที่ออกกว้างระยะประมาณ 15 เมตร
จากกรณีดังกล่าว นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางลงตรวจสอบพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อความชัดเจน พร้อมด้วยคณะทั้งเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ของนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆพบว่า 1.พื้นที่มีการทำถนนจริง แต่เนื่องด้วยมีการดำเนินคดีเมื่อปี พ.ศ. 2560 ทำให้ปัจจุบันไม่มีบุคคลใดเข้าไปใช้ประโยชน์ ทำให้เส้นทางเริ่มมีสภาพของลูกไม้ขึ้นประปราย และจากการใช้เครื่องบินอากาศไร้คนขับ (Drone) ตรวจสอบพื้นที่แล้ว พบว่ามีการก่อสร้างถนนจริงระยะประมาณ 2.3 กิโลเมตร พื้นที่กว่า 18 ไร่ 2. กำแพงที่มีการก่อสร้าง พบว่ามีการขุดดิน และเปิดพื้นที่ด้านข้าง 2 ฝั่งกำแพง ตลอดกำแพง เฉลี่ยความกว้าง 15 เมตร จริงตามที่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 แจ้งไว้จากการพูดคุยกับพระราชวิสุทธิมุนี (หลวงตาเยื้อน) ท่านได้ชี้แจงถึงป้ายโครงการปลูกป่า ซึ่งไปตั้งในพื้นที่ที่เป็นป่าอยู่แล้ว จึงไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีการจัดทำโครงการปลูกป่า ในพื้นที่ที่เป็นป่า ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ชี้แจงว่า เป็นโครงการปลูกป่าที่เป็นการปลูกฟื้นฟู ปลูกเสริม จำนวน 25 ต้นต่อไร่ เพื่อสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศ
ประเด็นสำคัญจากการตรวจสอบในการลงพื้นที่ พบว่าแปลงปลูกยางพาราที่มีความสูงของต้นยางพารา ประมาณ 4-9 เมตร อายุประมาณ 7-10 ปี โดยนายอำนาจ ขำทวี หน.หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยเสียดจะเอิง ยืนยันว่าพื้นที่แปลงยางพาราเป็นแปลงปลูกป่าปี 2539 ซึ่งได้รับงบประมาณในการบำรุงรักษาแปลงปลูกถึงปี 2548 และเมื่อแปลภาพถ่ายดาวเทียมเป็นปี 2556 พบว่าเริ่มมีการก่อสร้างกำแพง และปลูกยางพาราเกิดขึ้น ปัจจุบันพบว่ามีการกรีดยางพาราไปขายบางส่วน ซึ่งตามกฎหมายแล้วพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเงื่อนไขของโครงการพุทธอุทยาน ไม่สามารถปลูกพืชต่างถิ่น และจะยึดถือครอบครองเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ซึ่งหลวงตาเยื้อน ได้ชี้แจงว่า ตนได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้มาจากชาวบ้าน และตนไม่ได้เป็นผู้ปลูก เพียงแต่ดูสวนยางพาราต่อมาเท่านั้น นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จึงเสนอแนะแนวทางแก้ไข โดยให้หลวงตาเยื้อน ปลูกป่าทดแทน หรือให้มีการตัดเว้นระยะต้นยางพารา เพื่อจะสามารถปลูกฟื้นฟู ปลูกเสริม ในพื้นที่ ให้กลับมาเป็นสภาพป่าดังเดิม ซึ่งนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 พร้อมนี้ยังได้กล่าวว่า กรมอุทยานฯ พร้อมสนับสนุนกล้าไม้ และอัตรากำลังในการปลูก ซึ่งทางพระราชวิสุทธิมุนี (หลวงตาเยื้อน) ก็ยินยอมที่จะดำเนินการ หลวงตาเยื้อนได้พาไปพื้นที่บริเวณทางทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำจรัส ซึ่งติดกับประเทศเพื่อนบ้านระยะทางห่างเพียง 5 กม. มีจุดสกัดชั่วคราวของ ทหาร กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ตั้งจุดกตรวจจุดสกัดในพื้นที่ และบริเวณดังกล่าวเป็นจุดเสี่ยงต่อการถูกลักลอบเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และความยากลำบากในการติดตามผู้กระทำความผิดในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้สั่งการ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดสรรงบประมาณเร่งด่วน จัดซื้อเรือ และอุปกรณ์ ก่อตั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดสกัดของเขตรักษาพันธุ์ พร้อมให้ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังด้วย
กรณีการต่ออนุญาตใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติ และการต่ออายุโครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ฯ พระราชวิสุทธิมุนี (หลวงตาเยื้อน) ก็ยินยอมที่จะให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายกำหนด ซึ่งท่านได้ยอมรับว่าท่านไม่มีความรู้ในด้านกฎหมายเท่าที่ควร ทำให้มีการดำเนินการบางอย่างในพื้นที่สำนักสงฆ์อาจผิดไป และยินยอมยินดีที่จะแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย
กรณีหลวงตาเยื้อน ขอจัดตั้งสำนักสงฆ์ และขอเข้าโครงการพุทธอุทยานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อีกจำนวน 7 แห่ง ตามบริเวณฐานปฏิบัติการทหาร หรือจุดสกัดชั่วคราว ซึ่งนายชัยวัฒน์ฯ ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่สามารถดำเนินให้ได้ ด้วยไม่อยู่ในเงื่อนไขของโครงการพุทธอุทยานฯ ซึ่งหลวงตาเยื้อนก็ได้รับทราบและขอยุติโครงการดังกล่าว การเจรจาพูดคุยระหว่างนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพระราชวิสุทธิมุนี (หลวงตาเยื้อน) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และเจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุละฐานะจาโร เป็นไปด้วยความเข้าใจ และรับทราบแนวทางปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาร่วมกันในการไม่บุกรุกป่าและร่วมกันรักษาผืนป่าให้มีความสมบูรณ์ โดยนายธัญญาฯ ได้กล่าวกับหลวงตาเยื้อนว่า “หลวงตาไม่ต้องกังวลเรื่องการขอต่ออายุโครงการพุทธอุทยานฯ หากทางวัดดำเนินเป็นไปตามเงื่อนไข ช่วยกันรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทางกรมอุทยานฯ ก็จะดำเนินการต่ออายุโครงการฯ ให้ต่อไปเรื่อยๆ และหากทางสำนักสงฆ์จะดำเนินการใดๆ ในพื้นที่จะเข้าไปติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ส่วนเรื่องของแปลงยางพารา ก็ขอให้หลวงตาเยื้อนดำเนินการตามที่ได้รับปากไว้ หรือเข้าร่วมโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ” ซึ่งหลวงตาเยื้อนก็รับทราบและยินดีที่จะปฏิบัติ และแก้ไขให้การดำเนินการภายในวัดเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ หลังจากนั้น นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางไป ที่ จุดชมวิวผามะนาว พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เพื่อกราบสักการะรูปหล่อเหมือนหลวงปู่ทวด ขณะเดียวกัน เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวกำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ได้มอบเงินสนับสนุนให้ครอบครัวนายเกียรติชัย บำรุงแคว้น เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง นึกถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นหลัก เพราะหากสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ แต่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต ก็เท่ากับว่าภารกิจนั้น ล้มเหลว
ภาพ/ข่าว ทีมข่าว จังหวัดสุรินทร์