อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

วันที่ 24 ก.พ. 2564 ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ สำนวนหลัก หมายเลขดำที่ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส.รวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ โดยนายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัวทุกคน

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลยสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 – 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพ เป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส.

จากนั้น กปปส.จะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค. – 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152

สำหรับรายชื่อจำเลยคดีนี้ทั้งหมด 39 คน เรียงลำดับ ประกอบด้วย 1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3. นายชุมพล จุลใส 4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5. นายอิสสระ สมชัย 6. นายวิทยา แก้วภราดัย 7. นายถาวร เสนเนียม 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 11. พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13. นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14. นายถนอม อ่อนเกตุพล 15. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 16. นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ 17. นายสาธิต เซกัลป์ 18. น.ส.รังสิมา รอดรัศมี 19. พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี 20. พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ 21.นายแก้วสรร อติโพธิ 22. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 23. นายถวิล เปลี่ยนศรี 24. เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ 25. นายมั่นแม่น กะการดี 26. นายคมสัน ทองศิริ 27. พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28. นายพิภพ ธงไชย 29. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 30. นายสุริยะใส กตะศิลา 31. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด 32. พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ 33. นายสำราญ รอดเพชร 34. นายอมร อมรรัตนานนท์ 35. นายพิเชษฐ พัฒนโชติ 36. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 37. นายกิตติชัย ใสสะอาด 38. นางทยา ทีปสุวรรณ 39. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

วันนี้ นายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. กับพวกจำเลยรวม 37 คน เดินทางมาศาล ส่วน พล.อ.ปรีชา จำเลยที่ 11 เสียชีวิตแล้ว ขณะที่ พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ จำเลยที่ 32 ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีอื่น ให้รับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำ ขณะที่บรรยากาศในศาลมีผู้ชุมนุมอดีต กปปส.จำนวนหนึ่งมามอบดอกไม้ให้กำลังใจจำเลยคดี กปปส. พร้อมร่วมรับฟังคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ศาลจัดแยกไว้ให้ที่ห้องพิจารณา 701 ด้วย ในส่วนการรักษาความปลอดภัยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พหลโยธิน ร่วมกันดูแลความสงบเรียบร้อย

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 10.51 น. เสร็จสิ้นในเวลา 17.20 น.พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้วมีประเด็นวินิจฉัยว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การตั้งเวทีชุมนุมปราศรัย เคลื่อนไปสถานที่ราชการ เป็นการชุมนุมสันติ ไม่รุนแรง ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการปกปิด ซ่อนเร้นอำพรางเพื่อทำผิดกฎหมาย การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขับไล่ระบอบทักษิณ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนายุยงปลุกระดมกระทำผิดอาญา หากมีผู้ใดกระทำความผิดอาญาต้องแยกการกระทำเฉพาะราย ไม่อาจกล่าวหาเหมารวมว่าร่วมกันกระทำความผิด ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังรัฐบาลลาออก ปฏิรูปแก้ปัญหาประเทศก่อนเลือกตั้ง ไม่มีลักษณะล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญผูกพันผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วินิจฉัยแล้วไม่มีเจตนาความผิดฐานกบฏ มีเพียงการกระทำในแต่ละข้อหาอาญาเท่านั้น

กรณีการชุมนุมเพื่อไม่ให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ เห็นว่า ข้าราชการเป็นกลไกรัฐ ไม่ได้รับใช้ระบอบทักษิณตามที่กล่าวอ้าง การที่จำเลยจัดเคลื่อนขบวนไปให้หน่วยงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นการก่อให้ละเว้น หยุดงาน เสียหาย ไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจบริหาร ทำให้เกิดความปั่นป่วนเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนไม่อาจติดต่อราชการได้ หน่วยงานป้องกันรักษาความปลอดภัยต้องปิดประตู กั้นเขตไม่ให้มีการบุกรุก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจไม่อาจคาดเดาได้ว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือไม่ การที่จำเลยนำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสถานที่ราชการ ให้จำเลยกับผู้ชุมนุมเข้าไปตรวจสอบว่ามีการทำงานหรือไม่ การที่เจ้าหน้าที่ยอมให้ตรวจสอบนั้น เกิดจากผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันคุกคามให้อยู่ในภาวะจำยอม ไม่ถือว่าได้อนุญาต เป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันควร ทำให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ผู้ชุมนุมนำโซ่มาคล้องกุญแจ เอากาวหยอด เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ การที่จำเลยนำผู้ชุมนุมไปปิดสถานที่ราชการ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ไม่มีเหตุอันสมควร ยุยงหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล ไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความปั่นป่วน

ต่อมาศาลได้บรรยายถึงพฤติการณ์ในส่วนของจำเลยโดยละเอียด แบ่งเป็นสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการนำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสถานที่ราชการต่างกรรมต่างวาระ รวมถึงการขัดขวางการเลือกตั้งที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง, สำนักงานเขต และหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยในกรณีขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ก่อให้เกิดความปั่นป่วน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ไม่ใช่เพียงเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งแต่อย่างใด ทั้งนี้ ไม่อาจอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมายกเว้นการกระทำความผิดได้

ส่วนความผิดฐานก่อการร้าย ที่ฟ้องนายสุเทพ จำเลยที่ 1 กับ นายชุมพล จำเลยที่ 3 เนื่องจากมีการบุกตัดสัญญาณเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทีโอทีนั้น ศาลเห็นว่าไม่มีพยานยืนยันจำเลยที่ 1, 3 เป็นผู้ก่อเหตุหรือร่วมรู้เห็นเชื่อมโยงกับการก่อเหตุ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยที่ 1, 3 ฐานก่อการร้ายได้ พิพากษาจำคุกจำเลยสำคัญ คือ นายสุเทพ จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี,จำคุก 9 ปี 24 เดือน นายชุมพล จุลใส จำเลยที่ 3, จำคุก 7 ปี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำเลยที่ 4, จำคุก7 ปี 16 เดือน นายอิสสระ สมชัย จำเลยที่ 5, นายวิทยา แก้วภราดัย จำเลยที่ 6 จำคุก 1 ปี เเละปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายถาวร เสนเนียม จำเลยที่ 7 จำคุก 5 ปี, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 8 จำคุก 6 ปี 16 เดือน, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จำเลยที่ 9 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, พลเอก ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ จำเลยที่ 11 เสียชีวิต, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 12 จำคุก 1 ปี ปรับ
13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายถนอม อ่อนเกตุพล จำเลยที่ 14 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, อดีตพระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ จำเลยที่ 16 จำคุก 4 ปี 8 เดือน, นายสาธิต เซกัลป์ จำเลยที่ 17 จำคุก 2 ปี ปรับ 26,666 รอลงอาญา 2 ปี, พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี จำเลยที่ 19 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ จำเลยที่ 20 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ จำเลยที่ 24 จำคุก 4 ปี 16 เดือน, นายมั่นแม่น กะการดี จำเลยที่ 25 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 29 จำคุก 2 ปี, นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 30 จำคุก 2 ปี, นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 33 จำคุก 2 ปี 16 เดือน, นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 34 จำคุก 20 เดือน, นายพิเชษฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 35 จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 37 จำคุก 4 เดือน ปรับ 6,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี และ นางทยา ทีปสุวรรณ จำเลยที่ 38 จำคุก 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี

และให้ยกฟ้องจำเลยจำนวน 12 คน ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย จำเลยที่ 2, นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ จำเลยที่ 13, นางสาวรังสิมา รอดรัศมี จำเลยที่ 18, นายแก้วสรร อติโพธิ จำเลยที่ 21, นายไพบูลย์ นิติตะวัน จำเลยที่ 22, นายถวิล เปลี่ยนศรี จำเลยที่ 23, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ จำเลยที่ 27, นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 28, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด จำเลยที่ 31, พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ จำเลยที่ 32, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 36, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จำเลยที่ 39

อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลย 12 คน ที่ศาลจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ประกอบด้วย นายวิทยา จำเลยที่ 6, นายเอกนัฏ จำเลยที่ 9, น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 10, นายสมเกียรติ จำเลยที่ 12, นายถนอม จำเลยที่ 14, นายสาธิต จำเลยที่ 17, พลอากาศโท วัชระ จำเลยที่ 19, พลเรือเอก ชัย จำเลยที่ 20, นายมั่นแม่น จำเลยที่ 25, นายพิเชษฐ จำเลยที่ 35, นายกิตติชัย จำเลยที่ 37, นางทยา จำเลยที่ 38 เพราะบางคนเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมเท่านั้นเ เละแม้บางคนจะเป็นแกนนำในการชุมนุมด้วยก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยแต่ละคนกระทำนั้นน้อยกว่าจำเลยอื่น อีกทั้งไม่ปรากฏว่า มีพฤติการณ์อุกอาจหรือรุนเเรงจากการชุมนุมประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยดังกล่าวเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยดังกล่าวกลับตัวเป็นพลเมืองดี

นอกจากนี้ ยังให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 3, 5, 8, 16, 24, 33, 38 มีกำหนดคนละ 5 ปี เเละให้นับโทษของจำเลยที่ 15, 25, 30 ต่อจากโทษตามท้ายฟ้องด้วย

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ทั้ง 3 คน ต้อง

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.