จันทร์. เม.ย. 14th, 2025

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

“ส.ว. ปริญญา” ลงพื้นที่ภูเก็ต หารือรองผู้ว่าฯ ปมโรงเรียนต่างด้าว–แรงงานแย่งอาชีพคนไทย–จัดการขยะ ย้ำต้องเร่งจัดระเบียบให้ชัดเจน

1 min read



วันที่ 11 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ส.ว. ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ ได้เข้าพบ นายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีการจัดการขยะ ปัญหาโรงเรียนที่เปิดสอนเด็กต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต และกรณีแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย

ประเด็นแรกที่ ส.ว. ปริญญา หยิบยกขึ้นหารือ คือเรื่องการจัดการขยะในเขตเมืองภูเก็ต โดยระบุว่า “ประชาชนร้องเรียนเรื่องขยะ ซึ่งบางพื้นที่มีปัญหาสะสม ทั้งกองขยะที่ควรถูกปรับปรุง ระบบการจัดการยังไม่เป็นรูปธรรม น้ำเสียก็ยังมีอยู่” พร้อมเสนอให้ทางจังหวัดวางแนวทางฟื้นฟูพื้นที่ และปรับปรุงการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ต่อมาในประเด็นด้านการศึกษา ท่าน ส.ว. กล่าวถึงปัญหาโรงเรียนต่างด้าวที่ยังดำเนินการอยู่ แม้จะมีคำสั่งให้ปิด โดยกล่าวว่า “มีโรงเรียนที่อ้างว่าเป็นของมูลนิธิ เปิดสอนเด็กต่างด้าว และยังคงเปิดอยู่ในลักษณะ ‘ปิดเทอมชั่วคราว’ มีลักษณะเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองเด็กต่างด้าว ซึ่งไม่ได้เข้าสู่ระบบรับรองจากทางการ” พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าหลายแห่งมีลักษณะคล้ายกัน และควรถูกตรวจสอบให้เข้าสู่ระบบตามกฎหมาย

ในประเด็นแรงงานต่างด้าว ท่าน ส.ว. ระบุว่า “ตอนนี้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะผู้ติดตามของแรงงาน ใช้สถานะเพื่อประกอบอาชีพในกิจการที่สงวนให้คนไทย เช่น ร้านนวด ขับรถ และค้าขาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบโดยตรง” พร้อมเสนอให้จังหวัดตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

ด้านนายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ชี้แจงว่า “ปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องนโยบายระดับรัฐบาล ซึ่งจังหวัดไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง มีการขึ้นทะเบียนแรงงานในภูเก็ตประมาณ 300,000 คน ส่วนผู้ติดตาม เช่น ลูกหลาน ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน”

ในส่วนของโรงเรียนต่างด้าว รองผู้ว่าฯ ระบุว่า “หากเป็นโรงเรียนในระบบ เช่น สังกัด สพฐ. หรือโรงเรียนเอกชน จะต้องอยู่ในการกำกับดูแลของศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่ ต้องตรวจสอบว่ามีการเปิดสอนจริง มีสาระการเรียน มีการเรียกรับตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน”
“ถ้าเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต หรือศูนย์เรียนรู้ ต้องยื่นขออนุญาตจาก อปท., สพฐ., สำนักงานเขตพื้นที่ เช่นเดียวกัน และต้องกำหนดจำนวนผู้เรียนให้ชัด หากเกิน 50 คน ต้องอยู่ในกระบวนการกำกับดูแลของรัฐ และหากเกินกว่า 100 คน ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากกระทรวงศึกษาธิการ” ท่านรองผู้ว่าฯ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่า “โรงเรียนผู้ว่าฯ ควบคุมไม่ได้ เพราะในกฎหมายเขียนชัดว่าอำนาจอยู่กับศึกษาธิการจังหวัด ยกเว้นบางกรณีผู้ว่าฯ อาจมีบทบาทร่วม”ในช่วงท้ายการหารือ ท่าน ส.ว. ปริญญา ได้ขอให้ทางจังหวัดรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงในทุกประเด็น และส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมย้ำว่า “เราต้องทำเรื่องนี้ให้ชัด ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นช่องว่างที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องอาชีพ ระบบการศึกษา และสิ่งแวดล้อม”

Loading…

ใส่ความเห็น

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.