คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานด้านแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
1 min read
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
ศึกษาดูงานด้านแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ณ จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย
นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการนายธีระชัย แสนแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 3 นายสหัสวัต คุ้มคง โฆษกประจำคณะกรรมาธิการ นายจรัส คุ้มไข่น้ำ กรรมาธิการ
พร้อมด้วย คณะที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และทีมงานผู้ช่วย ส.ส. ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะในการพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ภารกิจในช่วงเช้า (เวลา 10.00 – 12.00 น.)
ศึกษาดูงาน ณ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนแนวทางความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

ภารกิจในช่วงบ่าย (เวลา 14.30 – 16.00 น.)
ศึกษาดูงาน ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยทางผู้บริหารนิคมได้ให้ข้อมูลที่สำคัญว่า ภายในนิคมฯ มีโรงงานตั้งอยู่กว่า 270 โรงงาน ส่วนใหญ่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นักลงทุนที่เลือกมาลงทุนในนิคมฯ แห่งนี้ พิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ทำเลที่ตั้ง (Location)
- นโยบายของภาครัฐ (Government Policy)
- ความซื่อสัตย์และความโปร่งใสในการดำเนินงาน (Integrity)
ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
ในด้านแรงงาน การจ้างงานในนิคมฯ ดำเนินการ ภายใต้กรอบกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยมีแรงงานไทยจำนวนมากได้รับโอกาสเข้าทำงานในโรงงานต่าง ๆ ภายในพื้นที่ ทั้งนี้ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต หากมีในประเทศไทยก็จะใช้จากแหล่งภายในประเทศก่อน แต่หากไม่สามารถจัดหาได้ก็จะมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นกรณีไป

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ได้แสดงความห่วงใยต่อการจ้างงานแรงงานไทย โดยเสนอแนะให้ทางผู้บริหารนิคมฯ ส่งเสริมการจ้างแรงงานในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่แรงงานไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่มาลงทุนและนำแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเท่านั้น

บทสรุป
การศึกษาดูงานครั้งนี้ ทำให้คณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายของรัฐในการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้เท่าทันอุตสาหกรรมโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในพื้นที่อย่างแท้จริง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน ขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยบูรพา และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง สำหรับความร่วมมือและการต้อนรับอย่างดียิ่งในการศึกษาดูงานครั้งนี้
Loading...