ศุกร์. เม.ย. 25th, 2025

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

รมว.ยธ. ประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

1 min read

รมว.ยธ. ประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2568 ย้ำ ความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ

วันที่ 24 เมษายน 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.วิชาญ สุขสง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พล.ท.มนตรี สุพิเพชร ผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำรัฐมนตรีกลาโหม พล.ต.ท.สันติ ชัยนิรามัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายบุญช่วย หอมยามเย็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รักษาราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายศิริสุข ยืนหาญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. พล.ต.วิทยา เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 10 – 01 ชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พบว่าตัวชี้วัดที่ได้กำหนดไว้เป็นตัวเลขเชิงปริมาณ ประสบความสำเร็จในทุกตัวชี้วัด แต่ยังมีในเรื่อง ของความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัญหายาเสพติดอยู่ในอันดับ 3 ที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน ฉะนั้นเราจึงมีการปรับเป้าหมายแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในห้วง 6 เดือนหลัง ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะทำอย่างไรให้ประชาชนสัมผัสได้จากการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษา และมีหลายหน่วยงานที่ต้องการที่จะให้มีการประเมิน โดยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติด ครอบครัว ชุมชน สำคัญที่สุด ในเมื่อเราต้องการที่จะให้ครอบครัว/ชุมชนเข้มแข็ง ทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังและให้เป็นตัวชี้วัด ในส่วนฝ่ายปกครอง จัดทำการประเมินผู้ใหญ่บ้าน ในเรื่องปัญหายาเสพติด รวมไปถึงเรื่องทหารเกณฑ์ที่แต่ละปีมีมากถึง 8 หมื่นคน ซึ่งมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีทั้งขั้นรุนแรง และเป็นผู้เสพยาเสพติด เมื่อมีการเปิดให้สมัครใจเป็นทหาร ครอบครัวมองว่ากองทัพเป็นพื้นที่ปลอดภัยจึงนำลูกหลานที่ติดยาเสพติดมาสมัครใจเป็นทหาร ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องมาพูดคุยกัน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา เพราะผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 3 แสนคน และผู้ถูกคุมประพฤติประมาณ 4 แสนคน กว่า 70% ไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาต่ำกว่าพื้นฐาน เป็นสาเหตุใหญ่ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการช่วยดู แต่อย่างไรก็ตามหากคนในกลุ่มนี้มาอยู่ในการดูแลของรัฐแล้ว รัฐต้องให้การศึกษา ถ้าหากไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะเป็นปัญหาระยะยาว และที่สำคัญก็คือเรามีกฎหมายที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ เช่น ในปัจจุบัน อาชีพ รปภ. มีความขาดแคลนอย่างมาก แต่ว่าผู้ต้องราชทัณฑ์ ออกมาแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายๆ แห่ง จ้างชาวต่างชาติมาเป็น รปภ. แทน จึงหารือกับปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบในเรื่องของกฎหมายเดิมว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในเรื่องการพิจารณาในวันนี้ เดิมประมวลกฎหมายยาเสพติดมองผู้เสพเป็นผู้ป่วย จึงยกเลิกการบังคับบำบัดระยะ 4 เดือน ที่เคยมีในอดีต โดยหลาย ๆ แห่ง เมื่อศาลตัดสินรอลงอาญา จะถูกส่งกลับไปอยู่ในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีเพียง 10% ที่กลับไปบำบัด แต่อีก 90% ไม่กลับไปบำบัด จึงเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ จึงได้สั่งการ ป.ป.ส. ให้ตรวจสอบว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิม สามารถประสานงานโดยไม่ต้องแก้กฎหมายได้หรือไม่ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องแก้กฎหมายกลับไปเป็นคล้ายๆ เดิม เราก็ต้องยอมรับว่าเราหวังดีกับเด็กเยาวชนในอนาคต ให้มีสุขภาพดี มีสมองที่ดี เป็นพลังของประเทศ จึงอยากให้เขาได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งก็อยู่ในระหว่างการประชุม และอีกเรื่องหนึ่งคือที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด เพื่อให้การควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่นำไปใช้การผลิตยาเสพติดมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีโดยตรงเป็นผู้กำกับ ควบคุม และติดตามการทำงานและการออกระเบียบ/ประกาศ และมีประธานอนุกรรมการ ที่สามารถประสานงานกับต่างประเทศและภายในประเทศ อันจะส่งผลให้การควบคุมสารเคมี มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“เรามองว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาของชาติ เป็นความจริงจังของรัฐบาลและต้องการจะปรับแผนใน 6 เดือนหลัง ให้เกิดผล ในส่วนของแผนนี้ยังอยู่กรอบแผนปี 2568 เมื่อมีการประเมินและปรับแล้วต้องรอข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินในเรื่องความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย

Loading…

More Stories

ใส่ความเห็น

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.